(ภาพประกอบ)
สมาคมนักประดาน้ำอาสาสมัครในเซเนกัล ร่วมแรงร่วมใจดำน้ำเก็บขยะพลาสติกใต้ท้องทะเลได้หลายร้อยกิโลกรัม ชี้ชาวบ้านทิ้งทุกอย่างลงทะเล เพราะคิดว่าทะเลกว้างใหญ่
เมื่อ 15 พ.ย.62 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กลุ่ม Ocenium สมาคมนักดำน้ำอาสาสมัครในเซเนกัล ประเทศในแอฟริกาตะวันตก มีกิจกรรมร่วมกันคือการดำน้ำลงไปเก็บขยะพลาสติก อย่างเมื่อเดือนที่แล้ว เพียงไม่กี่ ชม. นักประดาน้ำดำดิ่งลงทะเลบริเวณรอบๆ เกาะโกรี นอกกรุงดาการ์ เมืองหลวงเซเนกัล ซึ่งแต่ก่อนเป็นศูนย์กลางการค้าทาสแอฟริกัน แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของเซเนกัลไปแล้ว และนักประดาน้ำได้เก็บขยะพลาสติกขึ้นมาจากท้องทะเลได้หลายร้อยกิโลกรัม
นอกจากนี้ ทีมประดาน้ำ 22 คนที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ เมื่อกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา สามารถจัดเก็บขยะได้ถึง 1.4 ตัน ส่วนใหญ่เป็นพลาสติก และยังมีกระป๋องน้ำดื่ม เสื้อผ้าฉีกขาดและขยะอื่นๆ โดยนายมามาโดว อาลี กาดิอากา หนึ่งในสมาชิก Ocenium เผยว่า ชาวบ้านทิ้งทุกอย่างลงทะเล เพราะคิดว่ามันกว้างใหญ่
...
‘คุณต้องทำให้ชาวบ้านตระหนักและรับรู้ทำความเข้าใจถึงปัญหาว่า ทะเลไม่ใช่ถังขยะ’ นายร็อดวัน เอล อาลี ผู้อำนวยการ Ocenium วัย 36 ปี กล่าว พร้อมกับเผยว่า ขยะพลาสติกในเซเนกัลเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมายาวนาน เพราะชาวบ้านมาเที่ยวริมหาด กินดื่มแล้วเมื่อไม่มีถังขยะ ก็ทิ้งไว้ที่หาด จนถูกคลื่นและน้ำทะเลซัดไปกับกระแสน้ำ
ทั้งนี้ นายร็อด เอล อาลี ซึ่งเป็นสมาชิกชุมชนชาวเลบานอน ที่มาอยู่ในเซเนกัลตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ได้ร่วมแรงร่วมใจกับน้องสาวของเขา เข้ามาดูแลกลุ่ม Ocenium ที่ก่อตั้งเมื่อ 35 ปีก่อน โดยนายไฮดาร์ พ่อของตัวเอง ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีส่ิงแวดล้อมเซเนกัล โดยได้ปฏิบัติการงมทะเลเก็บขยะพลาสติกครั้งแรกเริ่มขึ้นเมื่อปี 2560 และได้ทำเป็นประจำทุกเดือน หรือทุกสัปดาห์หากหาเงินกองทุนช่วยเหลือได้
จากข้อมูลของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) พบว่า ทั่วโลกทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลราว 8 ล้านตัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อนกและสัตว์ทะเล ทำให้เกิดขยะที่มีขนาดเล็กมากแล้วเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร เฉพาะที่ประเทศเซเนกัล แม้ได้รับการยกระดับเศรษฐกิจกำลังพัฒนา แต่กลับไม่มีส่ิงอำนวยความสะดวกในการรีไซเคิลขยะเลย ทั้งที่ประธานาธิบดี แม็คกี ซัลล์ แห่งเซเนกัล ต้องการให้ประเทศมีขยะเป็นศูนย์ แต่กฎหมายปี 2558 ที่บัญญัติไว้ว่าห้ามใช้ถุงพลาสติก ก็ไม่ได้นำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง.