ชาวอินโดนีเซียเริ่มให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติก เพราะเป็นประเทศอันดับ 2 ของโลกรองจากจีนที่เป็นผู้ก่อมลภาวะเป็นพิษทางทะเลมากที่สุดในโลก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงลั่นวาจาว่าจะลดขยะพลาสติกทิ้งลงน้ำ 70% ให้ได้ภายในปี 2568 ไม่ว่าจะส่งเสริมรีไซเคิล และให้สังคมตระหนักรู้มากขึ้น

เริ่มต้นที่อู่รถเมล์สุราบายา เมืองเอกของ จ.ชวาตะวันออก ที่มีประชากรอาศัย 2.9 ล้านคน แต่ละสัปดาห์จะมีประชาชนเกือบ 16,000 คนร่วมโครงการ “ขวดพลาสติกแลกตั๋วฟรี” โดยขวดใหญ่ 3 ขวด หรือขวดขนาดกลาง 5 ขวด หรือถ้วยพลาสติก 10 ถ้วยที่ต้องทำความสะอาดมาแล้วและห้ามบีบขวด นั่งได้ไม่จำกัดครั้ง

นายฟรานซิสกา นูกราเฮปี ผู้โดยสารวัย 48 ปี มองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ชาญฉลาดมาก กับการนั่งรถเมล์ฟรี และแทนที่จะทิ้งขวดพลาสติก ประชาชนก็หันมาเก็บแล้วนำมาใช้บริการที่นี่ ส่วนนางนุรฮายาติ อันวาร์ พนักงานบัญชี อายุ 44 ปี ซึ่งใช้บริการอาทิตย์ละครั้ง กับลูกชายวัย 3 ขวบ บอกว่า เดี๋ยวนี้คนในออฟฟิศหรือที่บ้านพยายามเก็บขวดพลาสติกแทนการทิ้งลงขยะ เพราะพวกเรารู้แล้วว่าพลาสติกไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม

นายฟรานกิ ยัวนัส พนักงานขนส่งมวลชน เผยว่า โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์ที่ไม่เพียงแต่ลดปริมาณขยะ แต่ยังช่วยแก้ปัญหาการจราจรบนท้องถนนด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนหันมานั่งรถเมล์แทนการขับรถ ซึ่งนายยัวนัสย้ำว่า ผลตอบรับกลับมาดีมาก เพราะการจ่ายตั๋วด้วยขวดพลาสติกเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมีความกระตือรือร้นที่จะช่วยกัน

ส่วนการให้บริการรถเมล์ที่วิ่งอยู่มี 20 คัน แต่ละคันจะมีถังรีไซเคิลและพนักงานเดินตั๋วเพื่อคอยเก็บรวบรวมไปไว้ที่อู่รถเมล์ ซึ่งแต่ละเดือนจะรวบรวมได้ราว 6 ตันก่อนนำไปประมูลกับบริษัทรีไซเคิล

...

และอีกหลายพื้นที่ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีหมู่เกาะราว 17,000 แห่ง ก็พยายามหาทางแก้ปัญหานี้ด้วยเช่นกัน ทั้งเกาะบาหลีที่เริ่มห้ามใช้หลอดและถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งเพื่อป้องกันการทิ้งลงทะเล เช่นเดียวกับที่กรุงจาการ์ตาก็กำลังพิจารณาใช้เป็นกฎหมายลด-ละ-เลิกใช้ถุงช็อปปิ้ง

เป็นอีกหนึ่งแบบอย่างที่เห็นแล้วว่าชาวโลกไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้ทำลาย.

ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ