ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศวัย 78 ปี มักถูกเรียกว่า ‘นายธนาคารเพื่อคนยากจนของโลก’ หลังจากเมื่อ 40 กว่าปีก่อน เขาริเริ่มและพัฒนาแนวคิดเรื่อง ‘ไมโครเครดิต’ หรือการให้กู้วงเงินน้อยโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันแก่คนยากจน และพิสูจน์แล้วว่า คนจนเป็นลูกหนี้ที่เชื่อถือได้ จนเขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 2549
แนวคิดเรื่อง ไมโครเครดิต เครดิตของศ.ยูนุส ได้กลายเป็นระบบการเงินที่ช่วยให้คนยากจนหลายสิบล้านคนทั่วโลก สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ แต่หลังจากวันนั้นก็ผ่านมากว่า 40 ปีแล้ว และดูเหมือนว่าระบบไมโครเครดิตในสายตาของศ.ยูนุส จะไม่ได้พัฒนาไปอย่างที่เขาคาดหวังเอาไว้
*ธนาคารเพื่อคนจน
ศ.ยูนุสริเริ่มความคิดเรื่องไมโครเครดิตในปี 2519 และไม่นานก็กลายมาเป็นธนาคาร ‘กรามีน’ ซึ่งปล่อยเงินกู้ขนาดเล็กแก่คนยากจน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่สามารถหาเงินกู้ช่องทางอื่นได้ โดยเงินก้อนแรกที่เขาปล่อยกู้มีมูลค่า 27 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ผู้กู้กลุ่มแรกคือหญิง 42 คนในหมู่บ้าน โจบรา ใกล้มหาวิทยาลัยจิตตะกองที่เขาทำงานอยู่
...
ธนาคารทั่วไปมักลังเลที่จะให้คนยากจนกู้เงินเนื่องจากไม่มีอะไรรับประกันว่าจะได้เงินคืน แต่ศ.ยูนุส พยายามจะเปลี่ยนแปลงวงจรอุบาทว์ที่ว่า “รายได้น้อย, เงินเก็บน้อย และเงินลงทุนน้อย” ให้กลายเป็น “รายได้น้อย, ได้เงินกู้, นำไปลงทุน, รายได้เพิ่มขึ้น, เงินเก็บเพิ่มขึ้น, เงินลงทุนมากขึ้น, รายได้เพิ่มขึ้น” แทน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงามเหนือความคาดหมายของทุกฝ่าย และมีการเลียนแบบนำไปใช้ในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งทั่วโลก
ทว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าแนวคิดเรื่อง ไมโครเครดิต และชื่อเสียงของธนาคารกรามีน ไม่สำเร็จเหมือนในอดีตแล้ว
*ผ่านมา 40 ปี ระบบไมโครเครดิตเป็นอย่างไร?
ศ.ยูนุส กล่าวว่า ไมโครเครดิตยังคงเป็นเหมือนเดิม เหมือนตอนที่พวกเขาเริ่มใช้มันในบังกลาเทศเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ไมโครเครดิตยังคงอยู่ในระดับ NGO ซึ่งเป็นหน่วยงานทางการเงินระดับหางแถว แต่ตอนนี้คนมากมายทั่วโลกเริ่มโครงการไมโครเครดิตเป็นของตัวเองแล้ว และบางกลุ่มก็ฉวยโอกาสจากความน่าเชื่อถือในคำว่า ไมโครเครดิต ใช้มันสร้างเงินเพื่อตัวเองกลายเป็นปล่อยกู้ดอกเบี้ยโหดไป
ขณะเดียวกัน แม้ศ.ยูนุสจะพยายามช่วยเหลือการเข้าถึงเงินกู้ของคนจนและผู้หญิง แต่ข้อมูลจากธนาคารโลกในปี 2561 ชี้ว่า จำนวนผู้ที่มีบัญชีธนาคารในโลกนี้แทบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ขณะที่ช่องว่างด้านการเข้าถึงบริการทางการเงินระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงก็ยังคงอยู่ในระดับเดิม ซึ่งในจุดนี้ศ.ยูนุสระบุว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเข้าถึง แต่เราต้องแยกชนิดของสถาบันธนาคาร เพื่อจัดการปัญหาของคนระดับล่างสุด
ทุกวันนี้ สถาบันการเงินมีเพียงรูปแบบเดียวคือธนาคารเพื่อคนรวย คุณกำลังขอให้ธนาคารเพื่อคนรวยปล่อยเงินกู้ให้คนจน ทั้งที่ระบบออกแบบมาเพื่อการนั้น วิธีแก้ปัญหาการปฏิเสธผู้คนจากระบบการเงินคือ สร้างระบบการเงินใหม่ขึ้นมา โดยคล้ายกับธนาคารกรามีน เป็นธนาคารเพื่อคนจน ไม่ปล่อยกู้ให้คนรวย ขณะที่ธนาคารเพื่อคนรวยก็ไม่ปล่อยเงินกู้ให้คนจน
ปัจจุบัน รัฐบาลต่างๆ เคยใช้วิธีแจกเงินให้คนจนเพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าจะประเทศที่ร่ำรวยหรือยากจนก็ทำแบบนี้ แต่แทนที่จะแจกเงิน การปล่อยเงินกู้นั้นถูกกว่ามาก แล้วเงินก็จะกลับมาโปะค่าใช้จ่ายในตัวมันเอง แถมยังยั่งยืนกว่าด้วย มันเป็นระบบการตลาด
...
*วิธีใดแก้ปัญหาความยากจนได้มีประสิทธิภาพที่สุด?
ศ.ยูนุสเชื่อว่า ไม่ว่าจะใช้วิธีใด ก็ต้องเป็นวิธีที่สามารถสร้างรายได้ได้ และเพื่อจะสร้างรายได้คุณต้องกระตุ้นให้คนกลายเป็นผู้ประกอบการ ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงความยากจน คุณก็มักได้ยินคนบอกว่า “ให้การศึกษาสิ” แต่ว่าคำถามคือ ศึกษาแล้วทำอย่างไรต่อ? สภาพตลาดแรงงานไม่ได้ดีมากมาย หลายประเทศมีคนหนุ่มสาวว่างงานถึง 50% ด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ศ.ยูนุสกล่าวว่า เขาจะหลีกเลี่ยงการสร้างมาตรการประกันความเสี่ยงเพื่อกระตุ้นให้คนกล้าเสี่ยงเป็นผู้ประกอบการ เพราะจะส่งผลในด้านลบ เนื่องจากเป็นการสร้างการพึ่งพาอาศัย ดังนั้นเขาจะไม่แจกเงินแต่จะนำเงินไปฝากไว้กับกองทุนอื่น เช่น กองทุนสะสมเพื่อผู้ประกอบธุรกิจ เมื่อคนหนุ่มสาวล้มเหลว เงินส่วนนี้จะช่วยพวกเขาให้กลับมาทำธุรกิจใหม่ พวกเขาจะได้ไม่รู้สึกหวาดกลัวที่จะต้องล้มเหลว
*ความต่างระหว่างการแจกเงินกับการปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการ
ศ.ยูนุสกล่าวว่า หากเงินมาจากการ ‘ให้’ ความรับผิดชอบก็จะไม่ตามมาด้วย เงินเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อย่างง่ายดาย ขณะที่เงินกู้มาพร้อมกับความรับผิดชอบ คุณต้องสร้างอะไรสักอย่างกลับมาจากเงินก้อนนี้ ผู้คนจะรู้สึกสบายๆ หากมีการรับประกันว่าจะได้เงินแน่นอน เพราะพวกเขาจะได้มันอีก ต่อให้ล้มเหลว เงินสดอีกก้อนก็จะตามมาอีก แล้วจะพยายามไปทำไม?
ระบบสวัสดิการไม่เคยผลิตผู้ประกอบการออกมาเลย ระบบสวัสดิการในทุกประเทศคนเข้าไปแล้วไม่ยอมออกมาเพราะมีคนคอยดูแล นโยบายประกันรายได้พื้นฐานอย่าง UBI (Universal Basic Income) ก็เป็นสวัสดิการแบบหนึ่ง การแจกเงินไม่สามารถสร้างกิจกรรมได้ การแจกเงินคือการสร้างการพึ่งพาอาศัย และการพึ่งพาอาศัยก็ส่งผลลบต่อสังคม ระบบควรเป็นฟันเฟืองให้เราสร้างความเคลื่อนไหว สร้างผู้ประกอบการแทนที่จะสร้างผู้พึ่งพา และจงยอมรับความเสี่ยง
...
*ออกแบบระบบทุนนิยมใหม่
ศ.ยูนุสระบุว่า ความต้องการระบบ ไมโครเครดิต และจำนวนคนยากจนมากมายในปัจจุบันเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า ระบบทุนนิยมนั้นล้มเหลว มันผลักดันความมั่งคั่งทั้งหมดขึ้นด้านบนเรื่อยๆ และด้านบนก็มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่มีเจ้าของเป็นคนไม่กี่คน นี่มันระบบอะไรกัน? เราต้องออกแบบระบบทุนนิยมใหม่
ระบบทุนนิยมไปผิดทางเพราะตีความความเป็นมนุษย์ผิดไป พวกเขาบอกว่าเราถูกผลักดันด้วยความต้องการส่วนตัว แต่ที่จริงแล้วมนุษย์ถูกผลักดันจากทั้งความต้องการส่วนตัวและความเสียสละ ระบบเศรษฐกิจลืมในส่วนของความเสียสละไป และเมื่อเรานำมันรวมเข้าไปในธุรกิจเราก็จะได้ธุรกิจ 2 ประเภทคือ ธุรกิจที่สร้างเงินกับธุรกิจที่แก้ปัญหา จากนั้นระบบเศรษฐกิจก็จะเปลี่ยนไป
*ระบบการเงินที่ยั่งยืนไม่มีจริง
ระบบการเงินที่ยั่งยืนไม่มีจริง กลายเป็นวลีที่เริ่มได้ยินบ่อยขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่ศ.ยูนุส เชื่อว่า สิ่งที่เรียกว่า ‘ระบบการเงินที่ยั่งยืนไม่มีจริง’ นั้นไม่มีจริง เพราะคนจนไม่ถูกรวมเข้าไปในระบบการเงิน มันเป็นระบบของคนรวย ง่ายๆ แค่นั้น หากคุณไม่มีระบบการเงินที่รวมคนจนที่สุดเข้าไปด้วยได้ ก็แสดงว่าความยั่งยืนที่ว่า ไม่มีอยู่จริง
...
อ่านเพิ่มเติม รายงานพิเศษ "จนเงิน ไม่จนใจ อะไรคือทางแก้"
• นิยามความจนในสังคมไทย ทำไมรวยกระจุก จนกระจาย ยากเกินจะเยียวยา
• มุมมองแก้จน “กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ“ รัฐบาลต้องกล้าในสิ่งที่ควรทำ
• ยินดีต้อนรับสู่กับดักวงจร "หนี้" ออมน้อย รูดปรื๊ด จ่ายขั้นต่ำ ผ่อนน้านนาน
• จิตวิทยาล่อเหยื่อ ติดหนี้เกือบล้าน ทวงโหด รอดตาย หายจน เพราะ "พระ"
• ส่องโปรไฟล์ 14.5 ล้านคน รอรัฐเร่งช่วยแก้จน
• จังหวัดยากจนที่สุด "แม่ฮ่องสอน" ที่มีความสุขอันดับ 1 ของประเทศ