โลกต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อบรรเทา เยียวยาและฟื้นฟูความเสียหายจากพิบัติภัยธรรมชาติ ซึ่งนับวันรุนแรงและเกิดถี่ขึ้น
ผลกระทบจาก “ไคลเมต เชนจ์”- Climate change สภาพชั้นบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น ทั่วโลกยอมรับมนุษย์คือตัวการหลักเร่งปรากฏการณ์นี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความแปรปรวนของสภาพอากาศโลก แม้ผู้นำชาติมหาอำนาจสหรัฐฯ “ไม่เชื่อ” ไคลเมต เชนจ์ เป็นเพราะกิจกรรมของมนุษย์คือตัวแปรหลัก แต่เป็นเรื่องตามธรรมชาติ มนุษย์ยากเปลี่ยนแปลงแก้ไขปรากฏการณ์นี้
ส่วนผู้นำรัสเซียอ้างรู้ถึงปรากฏการณ์ “ไคลเมต เชนจ์” มาตั้งแต่ช่วงกว่า 100 ปีก่อน สถานการณ์ผลกระทบค่อยๆขยับรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเกินที่มนุษย์จะขัดขวางหรือช่วยชะลอความรุนแรงลงได้...
สหประชาชาติพยายามโน้มน้าวชักนำและเคลื่อนไหวให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาเห็นพ้องทิศทางเดียวกัน แต่ดูเหมือน “ผลประโยชน์” ของแต่ละประเทศ คือปัจจัยสกัดกั้นความร่วมมือร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยลดชะลอความเปลี่ยนแปลงของสภาพชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต
“จีน” ในฐานะชาติปล่อยก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศโลกมากที่สุดยุคนี้ กำลังเร่งหันไปพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนและนิวเคลียร์มากขึ้นแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573 หรือ 10 ปีข้างหน้า แต่เป้าหมายดูเหมือนยังห่างไกลความจริง
“สหรัฐอเมริกา” ปล่อยก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศโลกอันดับ 2 ยุคสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซฯจาก 26 เพิ่มเป็น 28 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568 เทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซฯเมื่อช่วงปี 2548
...
แต่ยุคสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับลำนโยบายนายโอบามา แถมสนับสนุนเผาถ่านหินใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป ทั้งถอนสหรัฐฯจาก “ข้อตกลงปารีส” หรือความร่วมมือกันลดโลกร้อน
“สหภาพยุโรป” ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศโลกลง 40 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573 เทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศโลกเมื่อช่วงทศวรรษ 1990
ส่วนชาติเล็กๆอื่นๆที่ไม่ได้สร้างผลกระทบปล่อยก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศโลกมากนัก ไล่ตั้งแต่ภูฏาน ซูรินาม ฟิจิ อุรุกวัยและนอร์เวย์ ต่างพร้อมร่วมมือตาม “ข้อตกลงปารีส” ร่วม “ปรับสมดุล” การปล่อยก๊าซฯให้ถึงเป้าหมายของแต่ละประเทศภายในปี 2593 หรือเร็วกว่านั้น...
อานุภาพ เงินกระแชง