สถาปัตยกรรมสิ่งปลูกสร้างในหลายประเทศทั่วโลกมีการแข่งขันสร้างตึกระฟ้าด้วยอิฐ ปูน เสริมเหล็กกล้าให้สูงที่สุดในโลกกันมานานนับศตวรรษ

แต่สมัยนี้...การแข่งขันกันด้วยวัสดุที่ทำจากไม้กำลังขยายตัวไปทั่วทั้งแคนาดา สหรัฐฯ ยุโรป จนถึงเอเชีย-แปซิฟิก เช่น Haut ในกรุงอัมสเตอร์ดัม สูง 73 ม. ที่เคลมว่าเป็นอาคารที่อยู่อาศัยสร้างขึ้นด้วยไม้ที่สูงที่สุดในโลก จะเริ่มส่งมอบงานอีก 2 ปีหน้า ที่แวนคูเวอร์ ในแคนาดาก็มีแผนสร้างตึก 200 ห้อง สูง 40 ชั้นให้สูงขึ้นไปอีก แม้แต่ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ที่บริษัท ซูมิโตโม ฟอเรสตี้ ก็ขอท้าชิงแชมป์ตึกระฟ้า 70 ชั้น สูง 350 ม.

และกำลังเป็นเช่นนี้กับการสร้างอาคารสำนักงาน สะพาน สนามบิน แม้แต่ทางหลวง ก็กำลังบูมในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาไปทั่วโลกอีกด้วย

มร.จอห์น ฮาร์ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน บนเกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย เผยว่า ไม้กับไม้ไผ่เป็นวัสดุที่ช่วยดูดซับคาร์บอน ดังนั้นข้อดีของการสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติเหล่านี้จะช่วยให้ลูกหลานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจากข้อมูล มหาวิทยาลัยเยล ด้านการศึกษาค้นคว้าสิ่งแวดล้อมและป่าไม้พบว่า การผลิตเหล็กกล้า คอนกรีตและก้อนอิฐทำให้ต้องเผาผลาญเชื้อเพลิงทั่วโลก 16% และมากถึง 30% ระหว่างช่วงลำเลียงขนส่งวัสดุก่อสร้างเหล่านี้ แล้วคอนกรีตก็ยังต้องมีการขุดดิน ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดน้ำท่วมและเมืองต่างๆร้อนขึ้น

ตรงข้ามกับการใช้วัสดุที่เป็นท่อนไม้ ทุกๆ ลูกบาศก์เมตรที่ใช้ในการก่อสร้างช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 900 กก.เศษ นั่นหมายถึงทุกๆหนึ่งตารางเมตร ช่วยไปได้ 135–360 กก. แล้วยิ่งมีนวัตกรรม เช่น กาวไม้ลามิเนต ลามิเนตไม้อัดไม้ (LVL) ไม้ลามิเนตไขว้ (CLT) ล้วนช่วยสร้างสรรค์ในการใช้งานได้หลายโปรเจกต์ เพราะเบากว่าคอนกรีต ลดปัจจัยเสี่ยงเหตุแผ่นดินไหว และช่วยให้งานออกแบบภายในดึงดูดความสนใจมากขึ้น

...

ปัจจัยเหล่านี้กำลังทำให้ภาครัฐในหลายประเทศเริ่มตื่นตัว ให้ค่ากับงานไม้ ทั้งรัฐบริติชโคลัมเบีย ในแคนาดา และเกาะแทสเมเนีย ของออสเตรเลีย ก็ปรับเปลี่ยนมาชูนโยบาย “ไม้ก่อน” หรือ “ส่งเสริมไม้” ให้เหล่าสถาปนิกคิดถึงไม้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่ญี่ปุ่นก็มีกฎหมายสนับสนุนให้ใช้ไม้เป็นวัสดุก่อสร้างทั่วไป

น่าจะเป็นวัฏจักรของสิ่งปลูกสร้างที่กำลังกลับไปโหยหาแบบธรรมชาติ ซึ่งเหมาะสุดแล้วสำหรับมนุษย์...

ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ