ศาลกรุงปารีส ฝรั่งเศส มีคำพิพากษาให้จำคุก 4 ปี “อุดม ตันติประสงค์ชัย” อดีต CEO สายการบินโอเรียนท์ไทยและวัน ทู โก สายการบินโลว์คอสต์ของไทย พร้อมเรียกค่าชดเชย อีก 75,000 ยูโร จากอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ภูเก็ตเมื่อ 12 ปีก่อนที่มีผู้โดยสารชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตด้วย ขณะที่อดีต CEO เก็บตัวเงียบแม้ถูกออกหมายจับสากลและไม่เคยไปขึ้นศาลที่ปารีสระหว่างพิจารณาคดี

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ 3 ก.ย. ศาลกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีคำพิพากษาลับหลัง ตัดสินให้จำคุกนายอุดม ตันติประสงค์ชัย อดีต CEO ของบริษัท Orient Thai Airlines (โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลนส์) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสายการบินโลว์คอสต์ One to go (วัน ทู โก ) เป็นเวลา 4 ปี ทั้งยังให้จ่ายค่าชดเชยเป็นจำนวนเงิน 75,000 ยูโร (ประมาณ 2,475,000 บาท) ในข้อหากระทำการโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

คำตัดสินครั้งนี้สืบเนื่องจากกรณีเครื่องบินของสายการบินวัน ทู โก ประสบอุบัติเหตุตกไถลออกนอกรันเวย์และเกิดระเบิดไฟลุกท่วม ขณะพยายามร่อนลงจอดที่สนามบินจังหวัดภูเก็ต ท่ามกลางฝนตกหนักและลมแรง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2550 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 90 คน จากผู้โดยสารทั้งหมด 123 คน ลูกเรือ 7 คน โดยผู้เสียชีวิตเป็นชาวไทย 33 คน เป็นชาวต่างชาติ 57 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ อิสราเอล ฝรั่งเศส

ในการอ่านคำตัดสิน ผู้พิพากษาศาลกรุงปารีสระบุว่า พบหลักฐาน “ความผิดพลาด” ของนักบินและกล่าวโทษสายการบินวัน ทู โก ด้วยว่าต้องรับผิดชอบ เพราะนักบินไร้สมรรถภาพในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินอย่างถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากพวกเขามีความเหนื่อยล้าและความเครียดจากการทำงาน

...

ขณะที่นายเจอราร์ด เบมบารอง หนึ่งในโจทก์ผู้ยื่นฟ้องเนื่องจากน้องชายของเขาเสียชีวิตในอุบัติเหตุครั้งนั้น กล่าวชื่นชมคำตัดสินของศาล และชี้ว่าเป็นการส่งคำเตือนที่จริงจังถึงสายการบินต่างๆ ที่ดำเนิน ธุรกิจอย่างน่าสงสัยเคลือบแคลงใจ แม้จะไม่ได้บินในฝรั่งเศสก็ตาม

การดำเนินคดีดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.2019 หลังครอบครัวผู้เสียชีวิตชาวฝรั่งเศส 9 คน และผู้รอดชีวิต 1 คน ยื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าชดเชยในอุบัติเหตุดังกล่าว ที่พวกเขาระบุว่าเป็น “อุบัติเหตุที่รอวันเกิดขึ้น” พร้อมกล่าวหาสายการบิน วัน ทู โก พยายามปกปิดความผิดพลาดต่างๆ ของตน ด้านนายอุดมยอมรับหลังเครื่องบินตกว่า สายการบิน วัน ทู โก ต้องรับผิดชอบบางส่วนในอุบัติเหตุทางอากาศครั้งร้ายแรงที่สุดของไทยในรอบ 10 ปีครั้งนั้น แต่ถึงแม้มีการออกหมายจับสากล นายอุดมก็ไม่เคยถูกจับและไม่เคยตอบสนองหมายเรียกจากศาล ทั้งไม่เคยไปขึ้นศาลกรุงปารีสในการพิจารณาคดีนี้

ก่อนหน้านี้ การสอบสวนโดยสำนักงานการบินพลเรือนของไทยสรุปว่า เครื่องบินตกเพราะความผิดพลาดของนักบินและนักบินผู้ช่วยพยายามนำเครื่องลงจอดท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้าย แต่ระบุด้วยว่านักบินทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนดต่อสัปดาห์ ทำให้มีความเครียดสะสม เหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ จนไม่สามารถแก้วิกฤตการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้าได้ดีพอ นำไปสู่การตกของเครื่องบิน ระหว่างการสอบสวนสายการบินวัน ทู โก ยังยื่นเอกสารเท็จ แจ้งชั่วโมงบินของนักบินต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อให้ดูเหมือนว่านักบินทำงานภายในชั่วโมงบินที่กำหนด

ส่วนผลการสอบสวนของฝรั่งเศส เผยถึงความบกพร่องล้มเหลวต่างๆของสายการบินวัน ทู โก ซึ่งเป็นบริษัทลูกของโอเรียนท์ ไทย รวมทั้งเรื่องการจัดหาพนักงาน การฝึกอบรม นิสัยการทำงานของนักบิน และการซ่อมบำรุง โดยอดีตนักบินคนหนึ่งเผยว่า การเพิ่มชั่วโมงบินของนักบินเป็นเรื่องปกติ และนักบินได้รับโบนัสพิเศษตอบแทน ซึ่งเสมือนเป็นวัฒนธรรมธุรกิจทางอาญา รวมทั้งการละเมิดบรรทัดฐานด้านความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ ตามกฎหมายฝรั่งเศส ศาลฝรั่งเศสมีสิทธิพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุหรือการโจมตีใดๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศทั่วโลก ถ้าพลเมืองฝรั่งเศสตกเป็นเหยื่อ