มีข่าวเล็กๆชิ้นหนึ่งในสำนักข่าวบีบีซี สะท้อนการใช้ชีวิตของผู้คนยุคข้อมูลข่าวสารและสื่อสังคมออนไลน์ คนนิยมอวดโชว์แต่ด้านดีๆของตัวเองบนสื่อโซเชียล หลังม่านหรือเรื่องลบเรื่องแย่ๆไม่ค่อยมีใครเปิดเผย
ยกเว้นต้องการแฉหรือเปิดโปงคนอื่น
คนต้นเรื่อง เป็นผู้หญิงชาวออสเตรเลีย อายุ 27 ปี เผยกับสื่อยอมรับเป็นหนี้เพื่อต้องการสร้างความประทับใจให้เพื่อนผู้ติดตามทางอินสตาแกรมได้กดไลค์ ได้คอมเมนต์
เธอเลือกที่จะรูดบัตรเครดิตจองซื้อทัวร์ไปเที่ยวสหรัฐฯ ใช้เวลา 6 สัปดาห์เที่ยวดิสนีย์แลนด์ ใช้เงินไป 5,525 ปอนด์ หรือประมาณ 207,111 บาท
ทำไปเพื่อ “ให้เพื่อนผู้ติดตามหรือฟอลโลเวอร์ 777 คน ได้ดูและพึงพอใจกับภาพสวยๆ สมบูรณ์แบบ”
“เลือกภาพสวยๆแล้วโพสต์ลงอินสตาแกรม จากนั้นรอเพื่อนๆเข้ามาดูแล้ว รอตามอ่านข้อความแสดงความคิดเห็นหรือคอมเมนต์ใต้โพสต์ที่มีทั้งชื่นชอบและแสดงความรู้สึกอิจฉา ทำให้รู้สึกดี” สาวชาวออสเตรเลียกล่าว
คำถาม? อะไรทำให้คนยอมเป็นหนี้เพียงเพื่อให้ได้ภาพและเรื่องราวโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์
คริสติน บาเกรย์โจนส์ นักจิตวิทยา คิดว่า สาวกผู้ใช้อินสตาแกรมหรือสื่อโซเชียลอื่นๆ เชื่อว่า การใช้จ่ายจะนำไปสู่ความสุข
“ยกตัวอย่างอาหารขยะฟาสต์ฟู้ด ทุกคนรู้ว่าคุณค่าและสารอาหาร คุณภาพด้อยกว่าอาหารทั่วไป แต่ยังต้องกินให้ได้อยู่ตลอด”
“พวกเรามักเปรียบเทียบกับคนอื่นๆเพราะเชื่อมต่อกับสื่อสังคมออนไลน์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแทบขาดไม่ได้”
การบ้าเห่อและอิจฉาสถานะ (Status) และการเปรียบเทียบก็เช่นกัน ทำให้คนเราอยากรู้อยากเห็นชีวิตคนอื่น
“หลังจบทริปท่องเที่ยววันหยุด คุณกลับบ้านกลายเป็นคนติดหนี้ ไม่มีความพึงพอใจเกี่ยวกับวันหยุดที่เฝ้ารอคอย ทำให้รู้สึกเศร้าหรือหดหู่” คริสตินกล่าว
...
ชีวิตจริงกับชีวิตบนโลกโซเชียลของบางคนแตกต่างลิบลับ แล้วแต่ใครเลือกจะนำเสนอออกไปในแนวทางไหน และมีไม่กี่คนที่นำเสนอตัวตนที่แท้จริงแบบไม่หลงวนอยู่กับความเป็นไปบนโลกโซเชียลอันย้อนแย้ง.
เกรียงศักดิ์ จุนโนนยางค์