วันเสาร์สบายๆวันนี้ ผมชวนท่านผู้อ่านไปคุยเรื่อง “ไฟฟ้าสะอาด” กันอีกสักวันนะครับ ไปดูการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงสะอาดของ ฟินแลนด์ กับ ปตท. มาตั้งแต่ต้นเดือน ถ้าไม่เล่าสู่กันฟังก็เหมือนยังติดค้างท่านผู้อ่านอยู่ ไปดูโลกที่พัฒนาแล้วย้อนกลับมาดู แผนผลิตไฟฟ้าของไทยใน 20 ปีข้างหน้า 2561–2580 ที่เรียกกันว่า PDP 2018 ยังตั้งหน้าตั้งตา ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสกปรก หรือ ฟอสซิล เช่น ก๊าซ ถ่านหิน ถึง 65% ใช้พลังงานหมุนเวียนเพียง 20% และพลังน้ำจากต่างประเทศ 9%

เป็นเรื่องใหญ่ที่ กระทรวงพลังงาน ควรจะต้อง ทบทวนแผนพีดีพีที่ล้าหลัง ฉบับนี้

รัฐบาลฟินแลนด์ ตั้งเป้าการผลิตไฟฟ้าในอนาคตด้วย หลักการสำคัญ คือ “ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2035” ในอีก 16 ปีข้างหน้า และ ห้ามใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2029 ในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ลดภาวะโลกร้อนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสังคม ทศวรรษ 2020 จะเป็นทศวรรษการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด

วันนี้ ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่มีการ ใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในสหภาพยุโรป รองจาก สวีเดน ที่ครองอันดับหนึ่ง

รัฐบาลฟินแลนด์ มองไกลไปในอนาคตว่า เราต้องตระหนักรู้ถึง การเปลี่ยนของภูมิอากาศโลก (Climate Change) และต้องดำเนินการบางอย่าง เพื่อเปลี่ยนผ่านรูปแบบการใช้พลังงานที่ยั่งยืน โดยทำอย่างรอบคอบและชาญฉลาดด้วย ดังนั้น ฟินแลนด์จึงบริหารจัดการไฟฟ้าด้วยระบบ Smart Grid

ตรงนี้ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่า Smart Grid คือ ระบบโครงข่ายการส่งไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสื่อสารสองทาง เพื่อควบคุมไฟฟ้าในบ้านของผู้ใช้ กับบริษัทไฟฟ้าที่ให้บริการผ่านสมาร์ทกริด จะมีการติดตั้งโปรแกรมพร้อมอุปกรณ์ตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าตามเวลาจริง (Real Time) ไว้ที่แต่ละครัวเรือน เพื่อให้รู้ว่ามีการใช้ไฟเท่าไหร่ จุดไหนมีการใช้ไฟมากน้อยอย่างไร เพื่อนำไปคำนวณการจ่ายกระแสไฟฟ้าตามการใช้จริง ทำให้ไฟฟ้ามีความเสถียร ลดปัญหาไฟฟ้าดับในช่วงที่มีการใช้ไฟสูง ช่วยให้ผู้ใช้ไฟสามารถเห็นพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และปรับลดการใช้ไฟฟ้าของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

...

นี่คือ ระบบไฟฟ้าแห่งอนาคต ดูเขาแล้วย้อนกลับมา แผนผลิตไฟฟ้าไทยใน 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยกลายเป็น ประเทศโลกที่ 3 ไปเลย

รัฐบาลฟินแลนด์ ระบุว่า ในช่วงทศวรรษ 2030 อีก 10 ปีข้างหน้า การผลิตไฟฟ้าจะมาจาก พลังงานแสงแดด พลังงานลม และ แบตเตอรี่ที่มีความจุได้มากกว่าปัจจุบัน 15 เท่า รวมทั้ง Waste to Energy การผลิตไฟฟ้าจากขยะและรีไซเคิล เพื่อแก้ปัญหาขยะปริมาณมหาศาลจากการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ตลาดรีไซเคิลและพลังงานขยะกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ปี 2018 ไฟฟ้าจากขยะในฟินแลนด์มีมูลค่า 40,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 1.25 ล้านล้านบาท ปีหน้า 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็น 58,900 ล้านเหรียญ 1.83 ล้านล้านบาท คิดเป็น 46% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด

อังกฤษ ก็ใช้ พลังงานสะอาด มาเป็น พลังงานไฟฟ้าหลักของประเทศ ตั้งแต่ต้นปี 2019 โดยใช้ระบบ Smart Grid ในการบริหารจัดการไฟฟ้า วันนี้อังกฤษใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสูงถึง 48% และ ลดถ่านหินจาก 30% เหลือ 3% และ พลังงานลมเพิ่มจาก 1% เป็น 19% เพื่อ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อน ไม่มีหรอกครับ โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ที่เมืองไทยเราชอบอ้างกัน

ในอนาคตอันใกล้ จะมีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด อันน่าทึ่งก็คือไฟฟ้าจากรถยนต์ไฟฟ้า จะสามารถ จ่ายกระแสไฟกลับมายังเครือข่ายสมาร์ทกริด โดย อังกฤษ คาดว่า เทคโนโลยี V2G (Vehicle to Grid) จะช่วยลดปัญหาการกักเก็บไฟฟ้าของอังกฤษได้ถึง 10–15% ผมก็เก็บมาเล่าสู่กันฟังครับ การผลิตไฟฟ้าในโลกวันนี้ก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว.

“ลม เปลี่ยนทิศ”