...ป่าฝน “แอมะซอน” -- Amazon บนดินแดนอเมริกาใต้ แหล่งป่าไม้หนาแน่นครอบคลุมพื้นที่ราว 7,000,000 ตารางกิโลเมตร กว้างใหญ่กว่าประเทศไทยราว 13.5 เท่า
ป่าแอมะซอนส่วนใหญ่อยู่ในบราซิล มากราว 60 เปอร์เซ็นต์ ผืนป่าส่วนที่เหลืออยู่ในอีก 8 ประเทศ รวมถึงเปรู 13 เปอร์เซ็นต์ และโคลอมเบีย 10 เปอร์เซ็นต์ ประเมินผืนป่าแห่งนี้มีไม้ยืนต้นมากกว่า 390,000 ล้านต้น เป็นแหล่งพำนักดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตมากกว่า 16,000 สายพันธุ์
สำคัญอีกอย่างคือ ผืนป่าแอมะซอน ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำลายชั้นบรรยากาศโลกเฉลี่ยปีละกว่า 2,000 ล้านตัน ทั้งช่วยผลิต “ออกซิเจน” หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตบนโลกมากราว 20 เปอร์เซ็นต์
การขยายตัวของสังคมเมืองและข้ออ้างความต้องการอาหารของมนุษย์เพิ่มขึ้น กำลังถูกใช้ทำลายกัดกร่อนพื้นที่ป่าฝนแอมะซอนมากขึ้นเรื่อยๆจนน่าห่วง...
ยิ่งปีนี้ 2019 นับตั้งแต่ผู้นำบราซิลคนใหม่ “ฌาอีร์ โบลโซนาโร” สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 38 อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ 1 ม.ค. นโยบายสนับสนุน “อุตสาหกรรมเกษตรและเหมืองแร่” ก่อให้เกิดการแผ้วถางป่าฝนดงดิบมากและเร็วขึ้นอีกหลายเท่า
เฉพาะช่วงเดือน ก.ค. รัฐบาลบราซิลอนุญาตแผ้วถางผืนป่ากินอาณาบริเวณมากถึง 2,254 ตารางกิโลเมตร ค่าเฉลี่ยการทำลายล้างแผ้วถางป่ามาก 3-5 เท่าจากค่าเฉลี่ยการแผ้วถางป่าช่วงตั้งแต่ปี 2559
ตลอดช่วงการดำรงตำแหน่งผู้นำบราซิลแล้วกว่า 7 เดือน “ฌาอีร์ โบลโซนาโร” แต่งตั้ง รมว.ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอุดมการณ์เดียวกันคือ “หนุนธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและเหมืองแร่” ทั้งแก้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดจำนวนคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศจาก 100 คน เหลือ 21 คน
...
องค์กรสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ ต่างพากันโจมตีรัฐบาลผู้นำบราซิลคนใหม่ถึงขนาดระบุ “สุนัขป่าถูกปล่อยเข้ากรงเลี้ยงไก่”
ชนเผ่าพื้นเมืองในป่าแอมะซอนพากันออกมาประท้วงโดนบุกรุกไล่จากถิ่นฐานพำนักดั้งเดิม รัฐบาลเยอรมนีกับนอร์เวย์ต่างหยุดบริจาคเงินช่วยเหลือรัฐบาลบราซิลปีละหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ปัญหาคือ รัฐบาลบราซิลจะปรับสมดุล “ความเจริญ” กับ “การอนุรักษ์” ได้มากน้อยแค่ไหน...
อานุภาพ เงินกระแชง