การเจรจาหาทางยุติ “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ยังไม่มีท่าทีว่าจะบรรลุข้อตกลงกันได้ หลังจากเมื่อ 1 ส.ค. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนชุดใหม่ มูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตรา 10% เริ่มมีผลบังคับ 1 ก.ย.นี้ และต่อไปอาจเพิ่มเป็น 25%

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้าจีนแล้วกว่า 250,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในอัตรา 25% ส่วนจีนก็ตอบโต้ ขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ มูลค่า 110,000 ล้านดอลลาร์เช่นกัน นั่นหมายความว่าสินค้าที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลกนี้ค้าขายกันมูลค่าราว 660,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีถูกตั้งกำแพงภาษีเกือบทั้งหมดแล้ว!

แต่เมื่อ 13 ส.ค. หลังประกาศขึ้นภาษีจีนชุดล่าสุดได้แค่ 12 วัน สหรัฐฯก็ประกาศเลื่อนการบังคับใช้การขึ้นภาษีสินค้าชุดนี้ “บางรายการ” ออกไป จากเดิม 1 ก.ย. เป็น 15 ธ.ค. รวมทั้งสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป เครื่องเล่นวิดีโอเกม รองเท้า เสื้อผ้า โดยทรัมป์ระบุว่า เลื่อนการขึ้นภาษีสินค้าจีนบางส่วนเพื่อไม่ให้ชาวอเมริกันต้องจับจ่ายซื้อข้าวของแพงขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาส

นั่นแสดงให้เห็นว่าการขึ้นภาษีสินค้าจีนทำให้สหรัฐฯ “เจ็บ” ไปด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาจเจ็บมากกว่าจีนด้วยซ้ำ! แม้ทรัมป์จะคุยเขื่องว่า การขึ้นภาษีสินค้าจีน ทำให้สหรัฐฯเก็บภาษีเข้ากระทรวงการคลังได้หลายพันล้านดอลลาร์ในช่วง 10 เดือนหลัง ทรัมป์ถึงกับตั้งฉายาตัวเองว่า “Tariff Man”!

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การขึ้นภาษีสินค้าจากจีนนั้น รัฐบาลจีนและบริษัทในจีนไม่ได้เป็นผู้จ่ายภาษีนี้โดยตรง แต่บริษัทนำเข้าที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ต่างหากที่ต้องเป็นผู้จ่ายภาษีให้สำนักงานศุลกากรและปกป้องพรมแดนของสหรัฐฯ (ซีบีพี) ภายใน 10 วันเมื่อสินค้าเข้าสู่สหรัฐฯ

...

และที่สำคัญกว่านั้น บริษัทผู้นำเข้าสินค้าทั้งหลายมักโยนค่าใช้จ่ายด้านภาษีที่เพิ่มขึ้นไปให้ลูกค้า ผู้บริโภค และโรงงานผู้ผลิตสินค้าภายในสหรัฐฯ เป็นผู้รับผิดชอบ ด้วยการ “ขึ้นราคาสินค้า” ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น ซึ่ง “ผู้บริโภค” นั่นเองที่รับภาระหนักที่สุด ไม่ใช่รัฐบาลจีน บริษัทจีน หรือบริษัทผู้นำเข้าของสหรัฐฯ แต่อย่างใด

จึงไม่แปลกที่หลังจากทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีน บริษัทค้าปลีกต่างๆ ของสหรัฐฯ ต่างรุมโจมตีว่าการทำเช่นนี้ก็คือการขึ้นภาษีต่อธุรกิจและผู้บริโภคในสหรัฐฯ ครั้งใหม่นั่นเอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานและเพิ่มค่าใช้จ่ายในครัวเรือนชาวอเมริกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

นักวิเคราะห์ชี้ว่า แม้บริษัทในจีนจะได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีของทรัมป์ไม่น้อย รวมทั้งอาจมีหลายบริษัทย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปประเทศอื่นๆ ทำให้มีคนตกงาน หรือมีกำไรลดลง แต่ผลกระทบต่อบริษัทและผู้บริโภคในสหรัฐฯ นั้นรุนแรงกว่าในจีนมาก โดยเฉพาะบริษัทนำเข้าซึ่งต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่เป็นการใหญ่ รวมทั้งตั้งเป้ากำไรน้อยลง ลดค่าใช้จ่ายของบริษัทด้วยการลดเงินเดือนหรือลดพนักงาน ระงับการขึ้นค่าจ้างเงินเดือนที่วางแผนไว้ ซึ่งนั่นจะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯโดยรวมไม่น้อย

นอกจากจีน ทรัมป์ยังเปิดศึกการค้ากับประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ รวมทั้ง “สหภาพยุโรป” (อียู) ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯขึ้นภาษีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมจากอียูตั้งแต่ปีที่แล้วและขู่จะขึ้นภาษีสินค้าอื่นๆ รวมทั้งไวน์ฝรั่งเศสและวิสกี้จากอียูโดยขีดเส้นตายให้อียูบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงภาครถยนต์ให้ได้ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่ 17 พ.ค.ปีนี้ สหรัฐฯยังต้องการเจรจาเรื่องภาคเกษตรกรรมกับอียูด้วย

ทรัมป์ยังบีบให้เม็กซิโกและแคนาดาลงนามในข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ ที่เรียกว่า “ข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา” (ยูเอสเอ็ม–ซีเอ) เพื่อใช้แทน “ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ” (นาฟตา) อันเก่าแก่อายุ 25 ปี ซึ่งทรัมป์ชี้ว่าไม่เป็นธรรม ทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบ โดยข้อตกลง “ยูเอสเอ็มซีเอ” นี้ รัฐสภาเม็กซิโกให้สัตยาบันรับรองแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย. แต่ยังติดค้างอยู่ในสภาคองเกรสสหรัฐฯ และรัฐสภาแคนาดา

ส่วน “อินเดีย” ก็เป็นอีกประเทศที่ถูกทรัมป์เล่นงาน เริ่มด้วยการขึ้นภาษีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม จากนั้นก็ถอดอินเดียออกจากบัญชีกลุ่มประเทศที่มี “จีเอสพี” ซึ่งส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ โดยไม่ต้องเสียภาษีตั้งแต่ต้นปีนี้ ส่งผลให้อินเดียตอบโต้ ขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ แล้ว 28 รายการ รวมทั้งเมล็ดอัลมอนด์และแอปเปิ้ล

จะเห็นได้ว่า ทรัมป์เปิดศึกการค้ากับหลายประเทศโดยไม่เลือกหน้าว่าเป็นมิตรหรือศัตรู ตามนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” แม้ตัวเองจะได้รับผลกระทบ แต่มั่นใจว่าจะ “เจ็บน้อยกว่า”!

บวร โทศรีแก้ว