ไอน้ำในเมฆกลั่นที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งอย่างไวไอจึงกลายเป็นผลึกน้ำแข็งโดยไม่ผ่านการแปลงตัวเป็นหยดน้ำผลึกจับตัวในเมฆและตกผ่านชั้นบรรยากาศที่มีอุณหภูมิต่ำจนละลายไม่ทันก่อนที่จะถึงพื้นดิน เราเรียกผลึกนี้ว่า ‘หิมะ’
เทือกเขาหิมาลัยปกคลุมไปด้วยทุ่งหิมะขาวโพลน หิมะเก่ายังไม่ทันละลาย หิมะใหม่ก็หล่นลงมาจากฟ้า หิมะเก่าใหม่อัดตัวกันแน่นจนหนักมากและเคลื่อนลงไปตามไหล่เขาอย่างเชื่องช้า บั้นปลายท้ายที่สุดก็แผ่กระจายไปทุกทาง มวลน้ำแข็งติดอยู่บนดินเป็นเวลานานทำให้เกิดธารน้ำแข็ง
ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย สองในหลายสายไหลผ่านตอนเหนือสุดของรัฐกะฉิ่น คือ แม่น้ำมาลิที่ไหลผ่านด้านตะวันตกของรัฐ และแม่น้ำนมัยที่ไหลผ่านด้านตะวันออก ทั้งสองสายไหลมาบรรจบพบกันเป็นแม่น้ำอิรวดี หากผู้อ่านท่านนั่งเรือจากจุดที่แม่น้ำสองสายไหลมารวมกันลงไปทางใต้ 45 กิโลเมตร ก็จะถึงมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐกะฉิ่น
แม่น้ำสายใหม่ที่มีชื่อว่าอิรวดีไหลผ่านเขตภูเขาสูงทางตอนเหนือ เขตที่ราบใจกลางประเทศและเขตที่ราบต่ำ สุดท้ายไปออกทะเลที่ดินดอนปากแม่น้ำ ที่ผมเรียนว่าไหลผ่านเขตภูเขาสูง ก็คือสูงมากขนาด 2,100-3,000 เมตร สองฟากฝั่งแม่น้ำจึงมีแต่ป่าโอ๊กและป่าสน หน้าร้อน แม้ฝนไม่ตก ทว่าน้ำในแม่น้ำทั้งสองสายกลับสูงเพราะหิมะและธารน้ำแข็งบนหิมาลัยละลายไหลลงมา
ประชาชนคนเมียนมาใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเหล่านี้มายาวนาน ทั้งด้านการเกษตรและการขนส่ง ทว่าปัจจุบันทุกวันนี้ เริ่มมีปัญหาน้ำมีน้อยลง ภาวะโลกร้อนทำให้หิมะและธารน้ำแข็งละลายอย่างเร็ว ทำให้เกิดน้ำท่วมในตอนแรก ต่อมาก็มีปัญหาน้ำน้อย
เท่านั้นยังไม่พอ บริษัทไชนาเพาเวอร์อินเวสต์เมนต์คอร์พอ-เรชันของจีนมาสร้างเขื่อนถึง 7 แห่ง เพื่อผลิตไฟฟ้า 13,360 เมกะวัตต์ เขื่อนทุกแห่งนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบนิเวศอย่างรวดเร็ว สัตว์และพันธุ์พืชมากมายหลายอย่างหายไป ที่นำความเปลี่ยนแปลงในทางลบมาให้กว่าเขื่อนไหนก็คือเขื่อนใหญ่ที่สุดที่ชื่อมยิตโซน เขื่อนนี้สร้างตรงแม่น้ำมาลิและแม่น้ำนมัยไหลมาบรรจบพบกัน เกษตรกรใต้เขื่อนมีน้ำไม่พอใช้และความอุดมสมบูรณ์ในเขตดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำก็ลดลงไปมาก แผ่นดินใต้น้ำในเขื่อนก็อยู่ในแนวรอยต่อของเปลือกโลก ต่อไปในอนาคต ถ้าเกิดแผ่นดินไหว หายนภัยจะมาเยือนพี่น้องประชาชนคนเมียนมาอย่างไม่เคยอุบัติมาก่อนในประวัติศาสตร์
...
แม่น้ำอิรวดียาว 2,170 กิโลเมตร ระหว่างทางมีแม่น้ำสายใหญ่ไหลเข้ามาบรรจบ เช่น แม่น้ำชเวลีไหลมารวมทางตอนใต้ของเมืองพะโค แม่น้ำมยิตเงและแม่น้ำมู ไหลมารวมตรงเมืองอังวะ แม่น้ำชินด์วิน ไหลมารวมที่เมืองปัคโกกุ แม่น้ำชินด์วินใหญ่และยาวเกือบเท่าแม่น้ำอิรวดี พอมารวมกัน ทำให้แม่น้ำอิรวดีแถวเมืองปัคโกกุและเมืองพุกามกว้างขวาง บางจุดกว้างถึง 1.6 กิโลเมตร
แต่ก่อนง่อนชะไร แผ่นดินสมบูรณ์ที่สุดอยู่เหนือเมืองเฮ็นซาดายาวไปจนถึงชายฝั่งทะเลอันดามัน พื้นที่ทางแถบนี้กว้างขวางใหญ่โตเกือบ 9 หมื่นตารางกิโลเมตร ทว่าตั้งแต่สร้างเขื่อน ผลผลิตทางการเกษตรกลับมีน้อยลงและคุณภาพก็ไม่ดีดังเดิม
แม่น้ำสาขาของแม่น้ำอิรวดีมีหลายสาย รวมกันแล้วมีความยาวถึง 3.2 พันกิโลเมตร ทำให้การขนส่งทางเรือเป็นไปด้วยความสะดวก เมื่อก่อนตอนที่จะให้บริษัทจีนมาสร้างเขื่อน มีการถกเถียงกันในสังคมเมียนมาอย่างเข้มข้น แต่สุดท้ายก็แพ้ฝ่ายราชการและทหารที่ต้องการให้สร้าง
โลกร้อน ไม่ใช่ปัญหาธรรมดาและธรรมชาติเหมือนที่รัฐมนตรีของเราบางท่านพูด และก็ไม่ใช่ปัญหาที่มนุษย์แก้ไขไม่ได้รัฐบาลของทุกประเทศต้องจริงใจในการตะโกนก้องร้องออกไปให้สุดเสียง เพื่อให้โลกได้ยินว่า ประเทศของตนพร้อมที่จะร่วมมือกันแก้ไขในปัญหานี้.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com