บริษัทฮัชคราฟต์ในอังกฤษ ทดสอบใช้เรือสินค้าไร้คนขนาดเล็กเชิงพาณิชย์ครั้งแรก ดำเนินการส่งของไปยังท่าเรือต่างประเทศ ถือเป็นครั้งแรกของโลก
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 62 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน บริษัทฮัชคราฟต์ของอังกฤษ ได้ทำการทดสอบใช้เรือสินค้าไร้คนเขนาดเล็ก ทำการส่งของไปยังท่าเรือต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการใช้เรือไร้ลูกเรือในเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ เรือดังกล่าวของฮัชคราฟต์ถูกสร้างโดยบริษัทซี-คิต อินเตอร์แนชนัลในอังกฤษ และได้รับเงินทุนสนับสนุนจากมูลนิธินิปปอนของญี่ปุ่น ทำจากโลหะอะลูมิเนียม ขนาดลำตัวยาว 12 เมตร ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ไฮบริด พลังงานดีเซล-ไฟฟ้า นำทางด้วยระบบเครือข่ายดาวเทียม พร้อมติดตั้งด้วยกล้องวงจรปิด กล้องตรวจจับความร้อน และเสียงหวูดเพื่อเตือนเรือข้างเคียง
นอกจากนี้ เรือดังกล่าวยังเคยได้รับรางวัลในการประกวดของบริษัทพลังงานเชลล์เป็นมูลค่ากว่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการทดสอบส่งสินค้ามีขึ้นเมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นกล่องบรรจุหอยนางรมขนาด 5 กิโลกรัม ออกจากท่าเรือเมืองเอสเซ็กซ์ของอังกฤษ มุ่งตรงสู่ท่าเรือเมืองออสเทนของเบลเยียม เป็นระยะทางเกือบ 200 กิโลเมตร ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี
ด้านนายลอว์เรนซ์ เบรนแนน อดีตทหารเรือสหรัฐฯ และศาสตราจารย์ด้านการเดินเรือและกฎหมายการเดินเรือประจำมหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮม ในนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ระบุว่าเรือไร้ลูกเรือของฮัชคราฟต์ ถูกบังคับด้วยเจ้าหน้าที่ 4 คน ในศูนย์ควบคุมที่เขตโทลเลอร์บิวรี เมืองเอสเซ็กซ์ ของอังกฤษ
‘ข้อได้เปรียบคือเป็นการลดต้นทุนอย่างมหาศาล ไม่จำเป็นต้องจ้างลูกเรือ ทั้งลดความเสี่ยงที่อาจเกิดกับลูกเรือในกลางทะเล ขณะที่ตัวเรือก็จะใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องมีห้องน้ำหรือห้องนอนของลูกเรือ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลสำหรับเทคโนโลยีใหม่นี้ คือการสูญเสียสัญญาณติดต่อกับศูนย์ควบคุม ทำให้อาจเกิดเหตุเรือผี หายไปในท้องทะเล หรือกระทั่งถูกจี้ปล้นโดยโจรสลัด สูญเสียสินค้า’
...
ขณะที่ดร.แคโรไลน่า ซโวลาค สมาชิกทีมบริษัทซี-คิต อินเตอร์แนชนัล เผยว่าจะทำการทดสอบแล่นเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในปีหน้า แต่เข้าใจว่าระบบเทคโนโลยีนำร่องและการสื่อสารต้องพัฒนามากกว่านี้ พร้อมยอมรับว่าเวลาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน สิ่งที่จะกู้สถานการณ์คือความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบ และประสบการณ์ของลูกเรือมนุษย์