นับจากวันที่ SIR EDMUND HILLARY และ TENZING NORGAY กลายเป็นมนุษย์ 2 คนแรก ที่สามารถสยบยอดเขา ที่สูงตระหง่าน 8,848 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในบรรณพิภพแห่งนี้ เมื่อวันที่ 29 พ.ค.1953

แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ รู้หรือไม่? นับจนวันนั้น กระทั่งถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2019 มีนักผจญภัย ผู้หวังสร้างชื่อเป็นหนึ่งในคนไม่กี่คนบนโลกนี้ ที่สามารถพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกไปแล้วกี่คน?

หากยังไม่รู้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะเฉลยให้ทราบ

จนถึงสิ้นปี 2018 มีผู้พยายามทำเช่นนั้นไปแล้ว 23,917 คน หากแต่ในจำนวนนี้ จนกระทั่งถึง วันที่ 13 มิถุนายน 2019 มีผู้ประสบความสำเร็จไปเพียง 10,050 คน และเสียชีวิตไปแล้วถึง 291 ราย

และเฉพาะในปี 2019 จนถึงวันที่ 13 มิถุนายน มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 11 ราย จากตัวเลขผู้ที่พยายามออกไปจุดแตะขอบฟ้าโลก 902 คน และในจำนวนนี้ ประสบความสำเร็จ 891 คน!

...

หากแต่สิ่งที่หลายฝ่ายกำลังปริวิตกอย่างจริงจัง นอกจากตัวเลขผู้เสียชีวิต จากความพยายามปีนป่ายขึ้นไปพิชิตยอดดอยอันหนาวเหน็บสุดขั้วหัวใจ ซึ่งมีอยู่แทบทุกปีแล้วก็คือ ปัญหามลพิษ บนพื้นที่ TOP OF THE WORLD!

และแน่นอน บรรดาขยะประดามีเหล่านี้ ดันไปอยู่ บนดินแดนที่กว่าจะเดินขึ้นไปได้แสนจะยากเข็ญ และต้องเอาชีวิตเข้าแลกได้อย่างไร?

คำตอบง่ายๆ ก็คือ ฝีมือมนุษย์เรานี่แหละ! ส่วนใหญ่ก็มาจากบรรดาเหล่านักปีนเขา ที่ขนข้าวของปริมาณมหาศาล สำหรับการรอนแรม 2 เดือน ฝ่าความหนาวเหน็บ -40 องศาเซลเซียส กระแสลมแรงขนาด 200-500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และออกซิเจนที่สุดแสนจะเบาบาง

ข้าวของสำหรับภารกิจสุดหินไม่ต่างจากการฝึกหน่วยซีล ดั่งว่านี้ ต่อ 1 คน ในระยะเวลา 2 เดือน แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ คิดว่า ต้องขนกันไปสักเท่าไหร่ นึกภาพกันออกแล้วใช่ไหม? และปัจจุบัน ดั่งที่เราๆ รู้กัน ในแต่ละปี เริ่มมีนักปีนเขา พยายามขึ้นไปบนนั้น มากขึ้นๆ ทุกปีเสียด้วย

คำถามต่อมา ปริมาณขยะและสิ่งปฏิกูลเหล่านั้น มันมีมากมายขนาดไหน...

ตามรายงาน เมื่อเดือนมิถุนายน 2019 ผ่านมา รัฐบาลเนปาล นำขยะออกจาก เอเวอเรสต์ ไปได้แล้วรวม 11 ตัน ในจำนวนนั้น มีอะไรบ้างน่ะหรือ ก็ไม่มีอะไรมานักหรอก...

ก็แค่ อุจจาระมนุษย์ ถังออกซิเจน เต็นท์ เชือกปีนเขา บันไดปีนเขา อาหารกระป๋อง ถุงนอน ผ้าห่ม ที่ถูกบรรดานักปีนเขาทิ้งไว้เบื้องหลัง หลังปลดเปลื้องภารกิจพิชิตจุดที่สูงที่สุดในโลกเรียบร้อยแล้ว OMG!

และในจำนวนนี้แน่นอน รวมถึงซากศพมนุษย์ ที่ติดค้างอยู่บนนั้น มาเป็นเวลานานด้วย

ในเมื่อปริมาณขยะมากมายขนาดนี้ แถมอยู่บนพื้นที่ ที่ไปได้ยากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ต้องใช้เงินมากมายขนาดไหน ในการเอาลงมา ตามรายงานของ EVEREST SUMMITEERS ASSOCIATION ระบุเอาไว้ว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2010 ถึง กันยายนปี 2012 ใช้งบประมาณเพื่อการกำจัดขยะบนเอเวอเรสต์ 780,000 เหรียญสหรัฐ หรือ คิดเป็นเงินบาทช่วยแข็งตัว ณ ปัจจุบัน ก็ประมาณ 24,082,500 บาท! เท่านั้นเอง

...

เกือบ 25 ล้านบาท สำหรับ ภารกิจเก็บขยะ! ซึ่งเกิดจากน้ำมือมนุษย์ล้วนๆ

และหากใครยังไม่รู้ กองขยะบนเอเวอเรสต์ ที่ยังมีส่วนหนึ่งติดค้างอยู่และยังไม่ได้ถูกขนลงมา กำลังสร้างปัญหาที่ยิ่งใหญ่ต่อไปสำหรับชาวโลกสีน้ำเงิน อีกด้วย!

แล้วกองขยะบนที่สูงขนาดนั้น มันจะมีผลต่อพวกเรา มนุษย์ผู้ครองพื้นพิภพแห่งนี้ได้อย่างไรกัน...

เล่ามาถึงบรรทัดนี้ แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ คงกระหายใคร่รู้แล้วใช่ไหม ความจริงบนนั้น มันเป็นอย่างไร เช่นนั้นแล้ว เราไปฟังจากปากผู้มีประสบการณ์ เห็นมาแล้วกับตา บนจุดที่สูงที่สุดในโลก กันดีกว่า มันเป็นจริงเช่นนั้น หรือไม่?

คุณวิทิตนันท์ โรจนพานิช หนึ่งในคนไทยผู้พิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก จะมาบอกเล่าทุกอย่างเหล่านั้น ผ่าน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

...

งบต่อคนเท่าไร จึงจะปีนขึ้น เอเวอเรสต์ได้?

มนุษย์ผู้พิชิต เริ่มเล่าให้ทีมข่าวฟังฯ ว่า “มันมีหลายระดับราคานะ คือตั้งแต่ถูกสุด 30,000 เหรียญสหรัฐขึ้นไป (925,950 บาท) จนถึง 65,000 เหรียญสหรัฐ (2,006,225 บาท) และ ราคาแพงที่สุด 100,000 เหรียญสหรัฐ (3,086,500) บาท

เดี๋ยวๆ แพงขนาดนี้ อย่าเพิ่งตกตะลึง แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ ค่อยๆฟังในบรรทัดต่อไปดีกว่า

“คือที่มันแพงก็เพราะ เฉพาะแค่ค่า PERMIT หรือ ค่าขออนุญาตปีนเขา จากรัฐบาลเนปาล เพียงอย่างเดียว หากคิดเป็นเงินไทย ก็ประมาณ 3 แสนกว่าบาทต่อคนแล้ว” คุณวิทิตนันท์ พูดพลางหัวเราะพลาง

งบส่วนที่เหลือก็คือ ค่าเสบียงกรัง อาหาร น้ำดื่ม ออกซิเจน เต็นท์ใส่อุปกรณ์ เต็นท์อาหาร ลูกหาบ คนนำทาง และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ต้องเตรียมไว้เต็มอัตราศึก เนื่องจากการเดินไต่เขาขึ้นไปในแต่ละครั้ง มันต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึง 2 เดือน!

ใช่คุณฟังไม่ผิด คุณต้องใช้ระยะเวลา 2 เดือน สำหรับการเดินขึ้นไปพิชิต จุดที่สูงที่สุดในโลก 8,848 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งสูงกว่า ตึกเบิร์จ คาลิฟา สิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโลก 10 เท่า ฉะนั้น ใครคิดจะไป แนะนำให้วางแผนลาพักร้อนให้ดีๆ

...

แต่เดี๋ยวก่อนนะ งบเพียงเท่านี้ ยังไม่ได้รวมกับอุปกรณ์ปีนเขา ที่เราควรจะต้องซื้อมาไว้เฉพาะตัวของเราเองอีกด้วยนะ เพราะในเมื่อต้องเดินทาง ในเส้นทางที่เสี่ยงตายขนาดนั้น คงไม่มีใครวางใจ คิดจะไปใช้อุปกรณ์ของใครก็ไม่รู้ จริงไหม และอย่างที่เราๆ ท่านๆ รู้กัน อุปกรณ์ปีนเขา มันก็มีราคาแพงอยู่พอสมควร

นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ บรรดา ROOKIE ไม่ควรมองข้าม คือ แพ็กเกจพิชิตขอบฟ้า นั้น อย่าได้เผลอเลือกเอาแต่ราคาถูกเข้าไว้เพียงอย่างเดียว เพราะหาก ROOKIE แบบคุณเลือกแพ็กเกจถูก ก็ต้องยอมรับ เรื่องความเสี่ยงที่อาจจะถึงแก่ชีวิต เอาไว้มากหน่อย

“คือมันแบบนี้” คุณวิทิตนันท์ เริ่มใช้นำเสียงจริงจังมากขึ้นในประเด็นนี้ หากเราซื้อ แพ็กเกจแพงๆ เขาก็จะ FULL OPTION หน่อย อุปกรณ์แต่ละชิ้นสำหรับบริการลูกค้า มันก็จะเป็นของดีมีคุณภาพ ลูกหาบก็จะเยอะหน่อย ไกด์นำทาง ก็เรียกว่า แทบจะส่งมาประกบลูกทัวร์แบบตัวต่อตัวเลย แถมยังมีหมอ คอยตรวจสอบสุขภาพตลอดระยะเวลาการเดินทางเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ก็จะมีบริการส่งเฮลิคอปเตอร์ไปรับ รวมถึงบินไปส่งของให้กับคณะ ในจุดที่ เฮลิคอปเตอร์ สามารถบินขึ้นไปได้ด้วย

ส่วนแพ็กเกจที่ราคาถูกๆ ก็ตามสภาพ ลูกหาบ และไกด์นำทาง ก็อาจจะน้อยลงหน่อย และแน่นอนความปลอดภัยในการเดินทางก็ต้องลดน้อยลงไป ซึ่ง แพ็กเกจนี้ จะเหมาะกับ นักปีนเขาระดับอาชีพที่คุ้นเคยกับการปีนเขามาเป็นเวลานานเท่านั้น

ภาวะโลกร้อน ทำให้ เอเวอเรสต์ มีความเสี่ยงมากขึ้น

“ช่วงที่พี่ไปก็พบแล้วนะ หิมะมันละลายเร็วขึ้น ทำให้น้ำแข็งที่เคยปกคลุมพื้นดิน หรือ หิน เอาไว้ มันหายไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง ต่อนักปีนเขามากขึ้นเป็นเงาตามตัว” มนุษย์ผู้เคยท้าทายความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ หล่นวาทะด้วยน้ำเสียงที่น่าฟัง

โดยเฉพาะหากปีนขึ้นทางทิศใต้ จะพบปัญหาในการขึ้นยอดเขาเอเวอร์เรสต์มาก เพราะช่องหุบเหวมันจะเยอะ ทำให้ต้องใช้บันไดมาพาด เพื่อปีนข้ามช่องเหวไป ซึ่งหากพลาดพลั้งขึ้นมาก็ถึงชีวิตเอาได้ง่ายๆ โดยเฉพาะหากช่องเหวนั้น มีความยาวถึงขนาดต้องเอาบันไดหลายๆ อัน มาต่อกัน เพื่อข้ามไป

ซึ่งการปีนบันไดข้ามช่องเหว ในขณะที่คุณกำลังสวมชุดปีนเขา บนนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ อย่างที่ใครๆ คิดกันนะ

ที่ว่าเสี่ยงก็เพราะ ข้อแรก หากพื้นดินบริเวณนั้น หิมะเหลือเบาบางหรือไม่มีเลย รองเท้าปีนเขาที่ถูกออกแบบมาเพื่อขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งจะมีขาหนามเพื่อเกาะพื้นหิมะเอาไว้ นั้น จะมีปัญหาทันที เพราะมีสิทธิที่จะทำให้ผู้สวมใส่ร่วงลงจากเขาเอาได้ง่ายๆ

ฉะนั้น จึงอาจมีความจำเป็นที่จะต้องถอดถุงมือ เพื่อดึงเอาเจ้าขาหนามใต้รองเท้าที่ว่านี้ออก ซึ่งการทำเช่นนั้น บนพื้นที่ ที่มีกระแสลมแรง และมีอุณหภูมิหนาวเหน็บ ถึง -40 องศาเซลเซียส นั้น มันมีความเสี่ยงที่อาจจะถูกตัดมือทิ้งได้

“การถอดขาหนาม นั้น คุณจะทำได้ก็ต่อเมื่อ คุณต้องถอดถุงมือที่ปกป้องคุณจากอุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียสออกเสียก่อน ทีนี้ เมื่อมือของคุณ สัมผัสความหนาวเหน็บระดับนั้น บ่อยๆ หรือ นานๆ มือของคุณ มันก็อาจจะเกิดอาการเลือดแห้ง ซึ่งจะทำให้เนื้อตายลงในที่สุด และเมื่อมือเน่า มีทางเดียวก็คืิอ ต้องตัดมือทิ้ง!

และนี่ยังไม่นับ อันตรายที่ไม่มีใครบนโลกนี้ สามารถคาดคิดได้ ว่ามันจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ อย่างเช่น เหตุการณ์หิมะถล่มด้วยนะ เพราะมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อ ภาวะโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิบนยอดเขาสูงขึ้น มันจึงเกิดการกัดเซาะภายใต้หิมะ จนกระทั่งทำให้เกิดโพรงขึ้นภายใน และทำให้หิมะถล่มลงมาในที่สุด” คุณวิทิตนันท์ กล่าวด้วยสีหน้าจริงจัง

ฉะนั้น สำหรับ บรรดา ROOKIE สิ่งที่ควรรู้เอาไว้ก็คือ เดือนที่ถือว่าปลอดภัย และมีโอกาสสูงที่สุดที่จะพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ ก็คือ เดือนเมษายน รองลงมาก็คือ เดือนตุลาคม ของทุกปี ส่วนเดือนอื่นๆ นั้น มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะล้มเหลว หรือ อาจจะถึงแก่ชีวิตได้

โลกร้อน ซากศพ กองขยะ ทัศนะอุจาด บนจุดที่สูงที่สุดในโลก!

นอกจากนี้ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้ ICE CAP หรือ ชั้นน้ำแข็งที่ปกคลุมบนยอดเขาเอเวอเรสต์ละลายเร็วขึ้น มันไม่ได้ยังผล เพียงทำให้เกิดอันตรายสำหรับนักพิชิตที่สูงแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันทำให้ เกิดความเศร้าสลด แลเห็นเรียงรายตามสองข้างทาง พร้อมกับ ปลงอนิจจังไปในตัวด้วย นั่นก็คือ...

1.ศพนักปีนเขา ที่ถูกทิ้งอยู่บนเอเวอเรสต์ นั่นเป็นเพราะ เกือบทุกปีจะมีนักปีนจำนวนหนึ่งสังเวยชีวิตอยู่บนนั้นเป็นประจำ หากถามว่าเพราะอะไร จึงไม่มีการนำศพเหล่านั้นลงมา คำตอบก็ง่ายๆ เลย ก็เพราะมันต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงถึง 2-3 ล้านบาท ต่อ หนึ่งศพ

“เมื่อก่อน ศพนักปีนเขาเหล่านี้ส่วนใหญ่ มักจะถูกหิมะทับถมจนแทบมองไม่เห็น แต่ปัจจุบัน ภาวะโลกร้อน ทำให้หิมะบนนั้นละลายเร็วขึ้น เมื่อละลายเร็วขึ้น ศพก็ถูกสังเกตเห็นได้ง่ายขึ้น พี่เองก็เคยเห็นนะ แต่อยากฝากเตือนบรรดานักผจญภัยทั้งหลายว่า ไม่ควรถ่ายรูปศพเหล่านั้นเอาไว้ เพราะเราควรที่จะให้เกียรติคนตาย” คุณวิทิตนันท์ กล่าวด้วยน้ำเสียงปลงอนิจจัง 

(จากข้อมูล งานวิจัยพบว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1958 ถึง 2011 พบว่าพื้นที่ธารน้ำแข็งบนเอเวอเรสต์ ที่กินพื้นที่ 396.2 ตร.กม. มีขนาดพื้นที่ลดลง 0.27% ต่อปี จนทำให้เหลือพื้นที่ธารน้ำแข็ง 339.5 ตร.กม. และในช่วง ค.ศ.1958-1975 ชั้นพื้นผิวธารน้ำแข็ง มีขนาดลดลง 0.12% ต่อปี ในขณะที่ไม่กี่ปีมานี้ ชั้นพื้นผิวธารน้ำแข็งนี้ มีขนาดลดลงถึง 0.70% ต่อปีอีกด้วย) 

2. กองขยะปริมาณมหาศาล ซึ่งส่วนใหญ่ก็เกิดจากฝีมือ นักปีนเขา นั่นแหละ!

“อะไรบ้างล่ะที่เรียกว่าขยะ ก็เช่น เต็นท์ทั้งหลัง แล้วเต็นท์ทั้งหลังมันมีอะไรบ้างล่ะ ก็ทั้ง พลาสติก อะลูมิเนียม ผ้าแคนวาส ไม่พอนะ บางคนนี่ นอกจากทิ้งเต็นท์ไว้ ยังทิ้งขยะจำพวก ถังแก๊สขนาดเล็ก ถังออกซิเจน บะหมี่สำเร็จรูป ข้าว และอื่นๆ อีกมากมาย ซุกคาเอาไว้ในเต็นท์อีกที ก็มีเหมือนกัน”

รวมๆ กันปีๆ หนึ่ง คิดเล่นๆ ดูสิว่า ปริมาณขยะบนยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก มันจะมีปริมาณมากมายเพียงใด โดยเฉพาะในช่วงหลายปีหลังมานี่ ตัวเลขนักปีนเขา ที่มุ่งหมายจะขึ้นไปพิชิตเอเวอเรสต์ให้ได้ นั้น มันแตะหลักพันคนต่อปีเข้าไปแล้ว ฉะนั้น ปีๆ หนึ่งพี่คิดเล่นๆ เอาไว้ว่า ปริมาณขยะบนหลังคาโลก น่าจะหลายๆ ตันเข้าไปแล้ว

ปัจจุบันเท่าที่ทราบ รัฐบาลเนปาล มีความพยายามในระดับ ที่จะจำกัดจำนวนนักปีนเขาที่มุ่งหมายจะขึ้นมาพิชิตจุดที่สูงที่สุดในโลก เช่น การขึ้นค่า PERMIT เพื่อหวังจะจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ก็ดูเหมือนว่า จะไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากไปดูจะพบว่า ตัวเลขของนักปีนเขามันแตะระดับพันกว่าคนต่อปีเข้าไปแล้ว

ขยะบนเอเวอเรสต์ ต้นทาง นำ MICROPLASTIC เข้าสู่กระเพาะมนุษย์

“คือจริงอยู่ ข้างบนนั้น ลมมันพัดแรงมาก บางช่วงเวลาอาจจะแรงถึงขนาด 200-500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขยะพวกนั้น มันอยู่ไม่ได้หรอกครับ มันก็ปลิวไปหมด แต่บริเวณแคมป์ 4 ซึ่งมีความสูงสักประมาณ 8,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นจุดที่ลมพัดเข้ามาได้ไม่มากนัก ตรงนั้นนี่ แทบจะเรียกว่า เป็น พื้นที่รับขยะขนาดมหึมาเลยก็ว่าได้

บอกตรงๆ มันก็เศร้านะ! ได้แต่รำพึงในใจว่า มนุษย์เรานี่นะ มาถึงบนนี้ได้นี่เรียกว่า โคตรยากเลย ยังอุตสาห์มาทิ้งขยะกันแบบนี้อีกหรือ คือ เราเข้าใจนะ คนมันเหนื่อย อะไรก็คงไม่อยากจะเอาติดตัวลงไปให้หนักเหมือนตอนขามาแล้ว ลงไปตัวเปล่าๆ ดีกว่า แต่ก็ควรคำนึงถึงส่วนรวมบ้าง

สำหรับพี่เอง กินอะไร ก็ยัดเอาใส่กระเป๋า แล้วเอาลงมาทิ้งข้างล่างหมด!”

ซึ่งรู้ไหม การกระทำแบบไม่มีสำนึกรับผิดชอบนี้ มันทำให้ มนุษย์เราเกิดปัญหากันแล้ว เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ มีนักวิทยาศาสตร์ เก็บตัวอย่าง MICROPLASTIC หรือ เม็ดพลาสติกขนาดเล็ก ซึ่งปะปนอยู่กับหิมะ บนยอดเขาเอเวอเรสต์ได้

มันแปลว่าอะไร น่ะ หรือ? มันก็แปลว่า ขยะบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติก มันไม่ได้ย่อยสลายไปทั้งหมด ส่วนที่เหลือซึ่งมีขนาดเล็กจิ๋ว มันยังคงอยู่

ถามต่อไป การคงอยู่ของมันทำให้เกิดอะไร? คำตอบก็คือ เมื่อมันปะปนอยู่กับหิมะบนยอดเขา ภาวะโลกร้อน ทำให้หิมะละลายเร็วขึ้น หิมะที่มีการปนเปื้อนเม็ดพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วนี้ ก็ละลายปนเปื้อนไปกับหิมะด้วย ทีนี้เมื่อมันละลายกลายเป็นน้ำ เส้นทางต่อจากนั้นของมันก็คือ ไหลลงไปสู่แม่น้ำ จากแม่น้ำก็ลงสู่ทะเล พอลงสู่ทะเล พวกแพลงก์ตอนมันก็กิน จากนั้น แพลงก์ตอน ก็ถูกปลากิน

แล้วท้ายที่สุด มนุษย์เราก็กินปลาที่ปนเปื้อนเม็ดพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้ เข้าไป! ผู้พิชิตในคราบชาวไทย กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด

(เมื่อเดือน มิ.ย.2019 ที่ผ่านมา โปรเฟสเซอร์ จอนห์ ออล จาก มหาวิทยาลัย Western Washington และทีมงาน ได้ออกมาเปิดเผย หลังการขึ้นไปเก็บตัวอย่างหิมะ และพืช บริเวณรอบเขาเอเวอเรสต์ ว่า พบมลพิษปนเปื้อนในหิมะบนนั้นจำนวนมาก และเมื่อนำตัวอย่างหิมะเหล่านั้นไปผ่านกระบวนการตรวจสอบ มลพิษเหล่านั้น ยังทำให้หิมะกลายสภาพเป็นสีดำได้อย่างประหลาดอีกด้วย ซึ่งนั่นแปลว่า มีเศษมลพิษขนาดเล็กกระจายตัวไปเกาะหิมะโดยรอบเอเวอเรสต์ ก่อนที่จะร่วงลงมาสู่เบื้องล่างในที่สุด)

เรื่องน่าเหลือเชื่อนี้ เกิดขึ้นได้ ก็เพราะฝีมือมนุษย์เท่านั้น!