ใช้หาเสียง "ทรัมป์"
“เฟซบุ๊ก” เตรียมใจ จ่อโดน สคบ.สหรัฐฯ ปรับกว่า 1.55 แสนล้านบาท หลัง กมธ.การค้าแห่งชาติมีมติ 3 ต่อ 2 เสียง สั่งปรับเงิน เหตุทำข้อมูลผู้ใช้งานนับล้านคนหลุดไปอยู่ในมือบริษัทที่ปรึกษาการเมืองจากแดนผู้ดีที่ทำงานให้ทีมหาเสียง “โดนัลด์ ทรัมป์” นำไปสู่การได้เปรียบในการโฆษณาหาเสียงศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ปี 2559 โดยสื่อนอกแฉ “เฟซบุ๊ก” เคยถูกกล่าวหา-ปรับเงินก้อนโตมาแล้ว ในฐานความผิดคล้ายกัน ขณะที่บริษัทที่ปรึกษาเจ้าเก่าปิดตัวแจ้งล้มละลาย แต่แปลงร่างตั้งบริษัทใหม่ กลับมาร่วมทีมเดิม เล็งสู้ศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ปี 2563
การปรับเงินบริษัทเอกชน เจ้าของเครือข่ายสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ในครั้งนี้ หนังสือพิมพ์วอลล์ สตรีท เจอร์นัลของสหรัฐอเมริกา รายงานเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ว่า คณะกรรมาธิการการค้าแห่งชาติ (FTC) สำนักงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสหรัฐฯ ลงมติสั่งปรับเงินเฟซบุ๊ก บริษัทเครือข่ายสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เป็นเงินมูลค่ามหาศาลถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 155,000 ล้านบาท ฐานละเมิดข้อตกลงกับเอฟทีซี เรื่องการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้
คำสั่งปรับเงินก้อนโตครั้งนี้ มีขึ้นหลังคณะกรรมาธิการการค้าแห่งชาติเปิดการสอบสวนบริษัทเฟซบุ๊กตั้งแต่เดือน มี.ค.2561 หลังได้รับรายงานกรณีฉาวว่า บริษัทที่ปรึกษาทางการเมือง แคมบริดจ์ อะนาไลติกา ของอังกฤษ ซึ่งทำงานให้กับทีมหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายล้านคน และนำไปวิเคราะห์ทางด้านจิตวิทยา เพื่อสร้างความได้เปรียบในการโฆษณาหาเสียงในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯปี 2559 ที่นายทรัมป์ได้รับชัยชนะ
รายงานของวอลล์ สตรีท เจอร์นัล ระบุ เอฟทีซีได้สืบสวนเจาะจงในประเด็นเฟซบุ๊กล่วงละเมิดข้อตกลงปี 2554 ของเอฟทีซี ซึ่งมีรายละเอียดว่าเฟซบุ๊กจะต้องแจ้งเตือนแก่ผู้ใช้งาน ให้แสดงความยินยอมว่าข้อมูลส่วนตัวสามารถนำไปเปิดเผยแบ่งปันได้ กรณีนี้คณะกรรมาธิการการค้าแห่งชาติ ได้ลงมติ 3 ต่อ 2 เสียง สั่งปรับเงินเฟซบุ๊ก โดย 3 เสียงสนับสนุนมาจากสมาชิกพรรครัฐบาลรีพับลิกัน และ 2 เสียงคัดค้านมาจากสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเดโมแครต ที่มองว่าโทษเบาไป และต้องมีมาตรการควบคุมเฟซบุ๊กมากกว่านี้
...
สำหรับกรณีฉาวที่ทำให้บริษัทเฟซบุ๊กถูกปรับเงินจำนวนมหาศาลนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2557 โดยบริษัทแคมบริดจ์ อะนาไลติกาของอังกฤษ ถูกกล่าวหาว่าได้ใช้วิธีชักชวนให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กตอบแบบสอบถามผ่านแอปพลิเคชันของบริษัทบุคคลที่สาม เพื่อทราบว่าผู้ใช้มีลักษณะนิสัยอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือแอปพลิเคชันได้เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ตอบคำถามและข้อมูลเพื่อนในเฟซบุ๊กของผู้ตอบคำถาม
ทำให้ต่อมาบริษัทเฟซบุ๊กประกาศยอมรับว่า มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันของบริษัทบุคคลที่สามราว 305,000 ราย และข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊ก 87 ล้านราย ถูกเปิดเผยและแบ่งปันอย่างไม่เหมาะสม ทั้งข้อมูลผู้ใช้บางส่วนถูกขายให้แก่บริษัทแคมบริดจ์ อะนาไลติกา ซึ่งต่อมาเฟซบุ๊กได้แถลงขออภัยผู้ใช้งานที่ข้อมูลส่วนบุคคลถูกละเมิด
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่า การลงมติปรับเงินเฟซบุ๊กของเอฟทีซีครั้งนี้ จะถูกส่งเรื่องให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ พิจารณาเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งไม่แน่ชัดว่าจะใช้ระยะเวลานานเท่าไร แต่หากได้รับการอนุมัติจะถือเป็นครั้งแรกที่เอฟทีซีปรับเงินบริษัทด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตาม บริษัทเฟซบุ๊กได้ประเมินไว้ตั้งแต่เดือน เม.ย. ว่าค่าปรับว่าจะอยู่ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์ และได้เตรียมสำรองเงินทุนไว้แล้ว ส่งผลให้หลังการประกาศมติของเอฟทีซีในวันที่ 12 ก.ค. หุ้นของเฟซบุ๊กกลับเพิ่มขึ้น 1.8 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ เหตุการณ์ละเมิดข้อมูลผู้ใช้ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกเปิดการสอบสวนเพิ่มเติม โดยเมื่อเดือน ต.ค.2561 เฟซบุ๊กถูกองค์การคุ้มครองด้านข้อมูลข่าวสารของอังกฤษ สั่งปรับเงิน 500,000 ปอนด์ หรือประมาณ 19.4 ล้านบาท ฐานปล่อยให้เกิดการละเมิดกฎหมาย ส่วนต้นปี 2562 องค์การคุ้มครองข้อมูลข่าวสารของแคนาดา ก็กล่าวหาเฟซบุ๊กว่าฝ่าฝืนกฎหมายสิทธิส่วนบุคคลอย่างร้ายแรง
ส่วนบริษัทแคมบริดจ์ อะนาไลติกา ได้แจ้งล้มละลายและปิดทำการตั้งแต่เดือน พ.ค.2561 แต่สำนักข่าวเอพีรายงานว่า กลุ่มอดีตเจ้าหน้าที่ของแคมบริดจ์ อะนาไลติกา ได้เปิดบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อดาต้า โปรเพรีย และกำลังทำงานร่วมกับทีมหาเสียงของนายทรัมป์ เพื่อเตรียมแข่งขันศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2563 แล้วด้วย