ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือที่เรียกว่า “ไบโอไดเวอร์ซิตี้” (Biodiversity) หมายถึงการที่มีสิ่งมีชีวิตนานาชนิด หลากหลายระดับพันธุกรรม และมีหลายระบบนิเวศที่แตกต่างกันบนโลก ตั้งแต่จุลินทรีย์ไปจนถึงมนุษย์อย่างเราๆ เชื่อมโยงสัมพันธ์กันโดยเฉพาะในเรื่องของห่วงโซ่อาหาร
ขณะที่มนุษย์ใช้ประโยชน์จากพืชและสัตว์ ในทางกลับกันก็ จำเป็นที่จะต้องปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพไปพร้อมๆกับส่งเสริมให้มนุษย์ใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ หลายประเทศก็มีมาตรการต่างๆกันไป องค์การสหประชาชาติเองก็กำหนดให้วันที่ 22 พ.ค.ของทุกปีเป็นวันสากลของความหลากหลายทางชีวภาพ (International Biodiversity Day)
จริงๆแล้วการที่แหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตบนโลกมีความแตกต่างกันมากเท่าไหร่ ก็หมายความว่าจะมีสิ่งมีชีวิตหลากชนิดหลายสายพันธุ์มากขึ้นตามไปด้วย ทั้งพื้นที่ป่าหรือชนบทห่างไกล แต่ในเขตเมืองก็มีความหลากหลายทางชีวภาพในอีกรูปแบบเช่นกัน อย่างในเนเธอร์แลนด์ก็มีเป้าหมายส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพให้กับเมือง ที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมก็คือ การปลูกพืชนับร้อยต้นบนหลังคาป้ายรถประจำทางหรือป้ายรถเมล์หลายร้อยแห่งในเมืองยูเทร็กต์ เพื่อเพิ่มความเขียวขจีให้กับเมือง พืชที่ใช้ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มซีดัม (sedum) ที่ปลูกได้ง่าย แถมยังทนทานต่อโรค ไม่เป็นอันตรายกับหมู่แมลง กลายเป็นของขวัญสำหรับผึ้งสกุลฮันนี่บี (honey bee) และผึ้งบัมเบิลบี (bumblebee) ที่ได้ชื่อว่าเป็นแมลงผสมเกสรที่ดีที่สุดช่วยในการสืบพันธุ์ของดอกไม้
การปลูกพืชคลุมหลังคาป้ายรถเมล์เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงหวังให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ยังช่วยดักจับฝุ่นละออง ปรับปรุงคุณภาพอากาศ และเก็บกักน้ำฝนอีกต่อหนึ่งซึ่งเมืองยูเทร็กต์มีแผนเสนอการใช้รถเมล์พลังงานไฟฟ้าแบบใหม่ในสิ้นปีนี้ เพื่อทำระบบขนส่งสาธารณะให้ปลอดมลพิษแบบหมดจดภายใน พ.ศ.2571 ส่วนกระแสไฟฟ้าที่ใช้ก็จะมาจากกังหันลมในประเทศโดยตรง
...
นอกจากนี้ ยังมีโครงการให้ประชาชนยื่นขอรับอนุมัติเงินทุน เพื่อนำไปเปลี่ยนหลังคาบ้านตนเองเป็นหลังคาเขียว (green roof) ที่ปิดทับบางส่วนด้วยพืชและดินบนแผ่นชั้นกันน้ำบนหลังคา เป็นการช่วยประหยัดพลังงาน.
ภัค เศารยะ