การทำงานขุดค้นทางโบราณคดี บ่อยครั้งที่จะพบกระดูกมนุษย์หรือสัตว์ รวมถึงวัตถุอื่นๆ มีลักษณะถูกเผาไหม้ ซึ่งในกรณีที่เกิดการเผาไหม้จนกระดูกเสียหายเหลือเพียงชิ้นเล็กชิ้นน้อย โดยซากเหล่านี้ยังสามารถค้นหาเกี่ยวกับความเป็นมาของเจ้าของซากได้ ทำให้นักวิจัยมีความพยายามหาวิธีใหม่ในการสืบค้นจากกระดูกที่ถูกเผาไหม้
เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยจากหลายสถาบันในอิตาลีรายงานในวารสารความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ถึงการใช้เทคนิคสเปกโทรสโคพิคแบบสั่นสะเทือน 3 วิธีคือ การกระเจิงนิวตรอนแบบไม่ยืดหยุ่น (inelastic neutron scattering-INS), การกระตุ้นสารด้วยพลังงานแสงช่วงอินฟราเรด (Fourier transform infrared-FTIR) และไมโครรามาน (micro-Raman) เพื่อทดสอบกระดูกโบราณที่ถูกเผาไหม้ โดยประเมินความร้อนของไฟ เพราะกระดูกที่ถูกเผาจะมีโครงสร้างทางเคมีเปลี่ยนไปอย่างมาก แต่โมเลกุลที่เหลือยังให้ข้อมูลได้ ทีมใช้เทคนิคเหล่านี้กับตัวอย่างกระดูกจากยุคกลาง สมัยจักรวรรดิโรมันจนถึงยุคทองแดงและยุคหินใหม่ รวมถึงกระดูกยุคใหม่บางชิ้นที่เผาในห้องแล็บด้วยวิธีที่ต่างกัน
ทีมวิจัยเผยว่า เทคนิคแต่ละอย่างมีจุดแข็งต่างกัน INS มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาสารประกอบที่มีไฮโดรเจน ในกระดูก และการสั่นสะเทือนที่แสดงให้เห็นอย่างอ่อนๆ ผ่านเทคนิคไมโครรามาน จะแข็งแกร่งขึ้นเมื่อใช้เทคนิค FTIR เข้ามาเสริม เพื่อกำหนดอุณหภูมิที่กระดูกตัวอย่างหลายชิ้นถูกเผา เช่น อุณหภูมิ 440 องศาเซลเซียสของกะโหลกศีรษะที่พบในพื้นที่ยุคกลาง และ 500 องศาเซลเซียสของกระดูกมือจากยุคทองแดง.