ป่าแก่งกระจานของไทย วืดได้เป็นมรดกโลกปี 2562 อย่างน่าเสียดาย ภายหลังจากที่ไทยส่งข้อมูลช้าไม่ทันพิจารณา ใน 3 ปมหลัก คือ เขตแดนไทย-เมียนมา ศึกษาขอบเขตพื้นที่ที่ลดลง และ ข้อกังวลชุมชนในพื้นที่
การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ยังคงพิจารณาต่อเนื่องในวาระขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ให้กับประเทศสมาชิก 193 ประเทศ ทั้งแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม และมรดกโลกแบบผสมทั้งสองประเภท ในเบื้องต้นมีหลายประเทศได้รับการรับรองประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกประกาศขึ้นทะเบียนครั้งนี้แล้ว 3 แห่ง จากเสนอขอ 4 แห่ง คือ ทุ่งไหหิน ของ สปป.ลาว เหมืองถ่านหินเก่า Ombin (ออบบิลิน) ของอินโดนีเซีย และพุกาม ของเมียนมา ส่วนกลุ่มป่าแก่งกระจานของประเทศไทย ยังไม่ถูกรับรองเป็นมรดกโลก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดช่วงเช้าสำนักข่าวในไทยจำนวนมากได้แชร์ข่าวโดยอ้างเว็บไซต์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ว่า กลุ่มป่าแก่งกระจานของประเทศไทย ได้รับการประกาศว่าขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ทำให้ผู้ติดตามข่าวนี้ต่างดีใจเป็นอย่างมาก แต่เมื่อสอบถามไปยังคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมประชุม ก็ได้รับคำตอบว่าคณะกรรมการมรดกโลกยังไม่มีมติในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ เดิมทีคณะผู้แทนไทยประเมินกันว่าวาระการพิจารณาของกลุ่มป่าแก่งกระจานจะแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ามีผู้คัดค้านกรณีประเทศไทยยังชี้แจงกรณีเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่กระจ่าง ทำให้การพิจารณาวาระนี้ต้องเลื่อนออกไปอีก
ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 20.45 น. ของวันที่ 7 ก.ค.2562 ตามเวลาประเทศไทย มีรายงานจากคณะผู้แทนไทยจากกรุงบากู ว่า ป่าแก่งกระจานยังไม่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแน่นอนแล้ว เหตุไทยส่งข้อมูลช้าไม่ทันพิจารณา พร้อมกันนี้ได้มีมติในที่ประชุมได้หยิบประเด็นกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นมาพิจารณาโดยระบุว่าให้ประเทศไทยไปทำข้อมูลเพิ่มเติมอีก 3 อย่างคือ 1. ให้ดำเนินการเรื่องขอบเขตระหว่างไทยและเมียนมา 2. ให้ไปทำข้อศึกษาเปรียบเทียบเรื่องขอบเขตพื้นที่ที่ลดลงว่ายังอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามระเบียบข้อที่ 10 ของการขึ้นแหล่งมรดกทางธรรมชาติ 3. ให้ไปทำข้อห่วงกังวลเรื่องชุมชนในพื้นที่
...
ทั้งนี้ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว หัวหน้าคณะ ผู้แทนไทย กล่าวว่า การที่คณะกรรมการมรดกโลกให้โอกาสประเทศไทยเช่นนี้ถือเป็นแนวทางที่ดีที่ยังมีโอกาสจัดทำข้อเสนอทางเทคนิคเพื่อกลับมาขึ้นทะเบียนมรดกโลกอีกครั้งแม้ว่าข้อมูลทั้งหมดที่ทางคณะกรรมการเป็นกังวล ทั้งเรื่องการปักปันเขตแดน ระหว่างไทยกับเมียนมา และเรื่องสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มชาติพันธุ์ เราจะดำเนินการแก้ปัญหาแล้ว แต่ข้อมูลทั้งหมดจะต้องถึงที่ประชุมภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 แต่การแก้ปัญหาของเรา ไม่ว่าจะเป็นการแก้กฎหมาย คนและชุมชนอยู่กับป่านั้น กฎหมายเพิ่งประกาศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่หลังจากนี้เราจะนำเสนอข้อมูลทั้งหมดให้คณะกรรมการพิจารณาในปีต่อไป
หัวหน้าคณะ ผู้แทนไทย กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ รัฐบาลไทยก็ควรจะเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน หรือพื้นที่อื่นๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะดูแลทรัพยากร เพื่ออนุรักษ์เอาไว้เป็นมรดกของโลกต่อไป ดังนั้นในครั้งหน้าไทยมีแนวโน้มเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งมรดกโลกได้อีก นอกจากนี้ สิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการต่อไปคือการขอเสียงสนับสนุนในการสรรหากรรมการมรดกโลกเพื่อให้ไทยมีโอกาสทำงานในเวทีนี้อย่างเต็มตัวต่อไป
นายสีหศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่ายินดีในครั้งนี้ คือการขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น หรือ Tentative list มรดกทางวัฒนธรรมของไทย 2 แห่ง กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด จังหวัดบุรีรัมย์ และเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์.