ทุกคืนเวลาดึกๆ แอนเดรีย จะสวมหมวกเหล็กกับตะเกียงไฟบนศีรษะ มุดรั้วเข้าไปหลังซุปเปอร์มาร์เกตแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี แล้วเจอเป้าหมาย...ถังขยะที่มีทั้งเส้นพาสตา ผลไม้เมืองร้อน น้ำมันมะกอกผสมเห็ดทรัฟเฟิล ทั้งหมดอยู่ในถุงบรรจุหีบห่ออย่างดีซึ่งพร้อมบริโภค

“คุณต้องรีบเก็บ เพื่อเคารพสถานที่ และที่สำคัญสุด เลี่ยงเจอตำรวจ เพราะที่ประเทศนี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายกับการหยิบสินค้าที่ขายไม่ได้ในถังขยะ” นักเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้านขยะอาหารเผย

ไม่ว่าสิ่งของใดที่เจ้าของทิ้งลงถังขยะในพื้นที่ส่วนตัว ยังถือเป็นทรัพย์สินของคนคนนั้น จนกว่ารถขยะมาเก็บ มิเช่นนั้นจะถือว่า ลักทรัพย์ มีโทษปรับเป็นเงินหลายร้อยยูโร

นักศึกษาปริญญาโท สาขาฟิสิกส์ วัย 22 ปี คนนี้ ไม่ได้ไปคุ้ยขยะเพราะมีปัญหาเรื่องเงิน แต่เพราะปู่ของเขาสอนเสมอว่า อย่ากินทิ้งกินขว้าง ขณะที่คนชอบทิ้งมากกว่าให้คนอื่นฟรี ของกินที่ได้มาแอนเดรียก็จะไปแบ่งกับเพื่อนร่วมห้อง หรือไม่ก็ทำแจก

และยังมีนักเคลื่อนไหวอีกหลายๆคนทั่วประเทศยอมเสี่ยงที่จะทำ แต่ก็มีอีกกลุ่มที่เปิดแอปฯ แบ่งปันอาหาร “Too Good To Go” ทางออนไลน์ ที่สามารถให้คนเข้าไปหาร้านอาหารที่เข้าร่วม เพื่อหวังว่าสักวันอุตสาหกรรมอาหารจะมีนโยบายเลิกทิ้งขยะอาหาร เพราะ แต่ละปีมีอาหารถูกทิ้ง 11 ล้านตัน

กิจกรรมที่เกิดขึ้นจุดประกายจากนักศึกษา 2 คน ที่ถูกตัดสินโทษให้ทำงานรับใช้สังคม 8 ชม. และปรับเงินคนละ 225 ยูโร หรือราว 7,800 บาท คดีลักทรัพย์ขั้นร้ายแรง เพราะไปหยิบสินค้าในขยะของซุปเปอร์มาร์เกตแห่งหนึ่ง ทำให้เกิดการล่ารายชื่อได้ 126,000 คน เรียกร้องรัฐขอให้ซุปเปอร์มาร์เกตเครือข่ายรายใหญ่ๆ นำสินค้าที่ขายไม่ได้แล้วให้การกุศล กรณีเดียวกับที่ฝรั่งเศสและเบลเยียม ไม่เท่านั้น ยังออกมาชุมนุมเรียกร้องให้การคุ้ยขยะไม่ใช่อาชญากรรมด้วย

...

เพราะอย่าลืมว่า ขยะอาหารก็เหมือนขยะพลาสติกที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนเหมือนกัน...

ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ