เรื่องข่าวปลอมข่าวลวง “Fake News” เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ทั้งในหมู่ประชาชนผู้เสพข่าว ไปจนถึงรัฐบาลที่ได้รับผลกระทบจากข่าวปลอม ถึงแม้บางทีอาจมี “ความจริง” แฝงอยู่ ดังเช่นที่กัมพูชา
เมื่อ 26 มิ.ย. ศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุกนายรัธ รอตต์ โมนี ล่ามและประธานสหพันธ์สหภาพแรงงานคนงานก่อสร้างกัมพูชา (ซีซีทียูเอฟ) เป็นเวลา 2 ปี ปรับอีก 17,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 560,000 บาท) ในข้อหายุยงให้เกิดการแบ่งแยก โทษฐานมีส่วนร่วมผลิตภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการค้ากามเด็กในกัมพูชา
โมนีวัย 48 ปี ถูกจับในไทยและถูกส่งตัวให้กัมพูชาปีที่แล้ว ขณะจะพาครอบครัวไปเนเธอร์แลนด์ หลังร่วมผลิตสารคดีเรื่อง “My Mother Sold Me” (แม่ขายฉัน) ให้สถานีโทรทัศน์ “รัสเซีย ทูเดย์” (อาร์ที) ของรัสเซีย มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงที่ถูกแม่พาตัวไปขายบริการทางเพศ
หลังสารคดียาว 30 นาทีออกอากาศ รัฐบาลกัมพูชาก็สั่งสอบสวนเรื่องนี้ และสรุปว่าแม่และเด็กหญิงในภาพยนตร์สารคดีถูกจ้างด้วยเงิน 200 ดอลลาร์ (ราว 6,400 บาท) ให้โกหก ทำให้เกียรติภูมิกัมพูชาเสื่อมเสีย ขณะที่รัสเซีย ทูเดย์ปฏิเสธว่าไม่เคยจ่ายเงินจ้างผู้ร่วมรายการให้โกหก
เมื่อคดีถึงศาล นางแก้ว มาลัย และนางเทพ สเรยลิน แม่ทั้ง 2 คนในภาพยนตร์สารคดีก็ “กลับลำ” ให้การว่า โมนีสัญญาจะให้เงิน จะช่วยสะสางข้อพิพาทเรื่องที่ดิน และจะเปิดร้านค้าให้ แลกกับการให้พวกเธอกุเรื่องเสียหายว่าพาลูกสาวไปขายตัว และอ้างว่าไม่เคยขายลูกสาวกินแต่อย่างใด
คำตัดสินจำคุกโมนีครั้งนี้ทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์” โจมตีว่ารัฐบาลกัมพูชาพยายามปกปิดปัญหาความยากจนในกัมพูชา ซึ่งทำให้ครอบครัวชาวชนบทที่ยากจนส่งเสริมให้ลูกสาวขายตัว และเป็นตัวอย่างหนึ่งของการ “ยิงผู้ส่งสาร” ผู้แฉความจริงที่รัฐบาลต้องการปกปิดต่อประชาคมโลก
...
ส่วนภรรยาของโมนี ก็ยืนยันว่าสามีเพียงทำงานเป็นล่ามให้อาร์ทีเท่านั้น ไม่ได้ทำผิดใดๆ คำพิพากษาจำคุกสามีถึง 2 ปี ปรับเงินสูงลิ่วนั้น ไม่ยุติธรรมเลย!
เป็นที่รู้กันว่าสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ผู้กุมอำนาจมาถึง 34 ปี ทำการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างหนัก ทั้งนักการเมืองฝ่ายค้านและนักสิทธิมนุษยชน และในปีหลังๆมักใช้ข้ออ้างเรื่อง “Fake News” เป็นอาวุธในการกำจัด หรือดิสเครดิตฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
จึงไม่แปลกที่ผู้คนไม่น้อยจะเชื่อว่า ภาพยนตร์สารคดี “My Mother Sold Me” เป็นเรื่องจริง หรือมีความจริงบางส่วนแฝงอยู่!
บวร โทศรีแก้ว