ปริมาณขยะที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องหามาตรการรับมืออย่างเร่งด่วน ปัจจุบันทั่วโลกผลิตขยะรวมกันปีละกว่า 2.12 พันล้านตัน เป็นตัวการสร้างก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 5% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด แต่ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 พันล้านตันภายใน 30 ปีข้างหน้า ตามคำเตือนของธนาคารโลก

รัฐบาลของประเทศขนาดใหญ่ทั่วโลกเพิ่มความพยายามในการพัฒนาโครงการรีไซเคิลขยะ หรือการนำกลับมาใช้ใหม่มาตลอด ซึ่งในปี 2561 ‘ยูโนเมีย รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง’ (Eunomia Research and Consulting) บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป จัดทำข้อมูลประเทศที่มีอัตราการรีไซเคิลขยะดีที่สุดในโลก ซึ่ง 5 อันดับแรกได้แก่

1. เยอรมนี

นับตั้งแต่ปี 2559 เยอรมนีกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการีไซเคิลขยะดีที่สุดในโลก โดยในปีก่อนเยอรมนีรีไซเคิลขยะไปถึง 56.1% ของขยะทั้งหมดที่พวกเขาผลิตออกมา

จุดเริ่มต้นของความสำเร็จของเยอรมนีเกิดขึ้นในปี 2533 เมื่อพวกเขาเริ่มการตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดโอกาสเกิดปัญหาการเพิ่มขึ้นของหลุมฝังขยะ โดยรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาหลีกเลี่ยงมูลฝอยบรรจุภัณฑ์ในปีต่อมา กำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบต่อขยะบรรจุภัณฑ์ของตัวเอง

สัญลักษณ์จุดเขียว
สัญลักษณ์จุดเขียว

...

ฟากผู้ผลิตจึงเริ่มติดสัญลักษณ์ ‘จุดเขียว’ (Green Dot) บนบรรจุภัณฑ์ของตัวเอง โดยทำสัญญากับบริษัทเก็บขยะ ‘ดูอัลส์ ซีสเตม ดอยช์แลนด์’ (DSD) เพื่อรับประกันว่าบรรจุภัณฑ์นั้นๆ จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ใหม่ จนเกิดระบบเก็บขยะคู่ขนาน (dual system) ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ควบคู่ไปกับการเก็บขยะชุมชนที่มีอยู่เดิม โดยแยกขยะที่มีจุดเขียวใส่ในถุงสีเหลืองหรือถังขยะสีเหลือง

ปัจจุบันมีประเทศที่ยอมรับการใช้ฉลาก Green Dot แล้วรวม 11 ประเทศ คือ เยอรมนี ออสเตรเลีย เบลเยียม ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก โปรตุเกส สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร มาตรการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราการรีไซเคิลขยะของเยอรมนีเพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2534 เป็น 56.1% อย่างในปัจจุบันด้วย

2. ออสเตรีย

ออสเตรียรีไซเคิลขยะได้ 53.8% ในปี 2561 พวกเขาเป็นประเทศที่มีกฎหมายห้ามนำขยะหลายประเภทไปทิ้งในหลุมกำจัดขยะ, ห้ามทิ้งผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มีอัตราปล่อยสารอินทรีย์คาร์บอนมากกว่า 5% ช่วยป้องกันไม่ให้บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ถูกทิ้งไว้ตามพื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ออสเตรียยังมีมาตรการให้ผู้ผลิตรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์ของตัวเองคล้ายกับเยอรมนีด้วย โดยบริษัทที่รับผิดชอบการเก็บขยะคือ ‘อัลต์ชตอฟ รีไซคลิง ออสเตรีย’ (ARA) ที่ก่อตั้งในปี 2536

ออสเตรียยังเป็นประเทศที่เชื่อมั่นในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และมีสื่อการสอนที่ช่วยให้พลเมืองอายุน้อยเข้าใจถึงความสำคัญของการรีไซเคิลขยะมากมาย รวมทั้งการ์ตูนและหนังสือภาพด้วย

3. เกาหลีใต้

เกาหลีใต้เป็นประเทศเดียวที่ไม่ใช่ชาติยุโรปที่ติด 5 อันดับแรกประเทศรีไซเคิลขยะดีที่สุดในโลก โดยรีไซเคิลไปราว 53.7% โดยอาศัยระบบที่บริษัทเอกชนต่างๆ ซื้อขยะแล้วนำไปขายต่อเพื่อทำกำไร แต่อีกไม่นานวิธีการนี้อาจไม่ใช่วิธีที่ดีอีกต่อไป เมื่อประเทศจีนซึ่งเป็นชาติรับซื้อขยะรายใหญ่ของโลก ประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2561 โดยจะหยุดนำเข้าขยะพลาสติกแล้ว

ถังขยะสำหรับขยะประเภทต่างๆ ในเกาหลีใต้
ถังขยะสำหรับขยะประเภทต่างๆ ในเกาหลีใต้

การเปลี่ยนนโยบายสิ่งแวดล้อมของจีนทำให้บริษัทเกาหลีใต้ไม่สามารถทำงานจากแผนรีไซเคิลขยะแบบเดิมได้มากเท่าเดิมอีกต่อไป ส่งผลให้มีการเลย์ออฟพนักงาน และเริ่มมีขยะพลาสติกกองอยู่ตามท้องถนนให้เห็นมากขึ้นแล้ว จนกระทั่งรัฐบาลต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทรีไซเคิลในประเทศ

นายคิม อึน-คยอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเกาหลีใต้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เพื่อแก้วิกฤติขยะพลาสติก สังคมทั้งหมดต้องเปลี่ยนวิธีการผลิต, การบริโภค, การรีไซเคิล รวมทั้งวัฒนธรรมในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งรัฐบาลได้บังคับใช้นโยบาย แบนขวดพลาสติกสีและพีวีซีให้หมดไปภายในปี 2563 รวมทั้งลดการใช้แก้วแบบใช้แล้วทิ้งและหลอดพลาสติก และกำจัดให้หมดไปภายในปี 2570 ด้วย

4. เวลส์

เวลส์สามารถรีไซเคิลขยะได้ถึง 52.2% ในปี 2561 โดยการรีไซเคิลของเวลส์จัดการโดยรัฐบาลหรือผู้บริหารส่วนท้องถิ่น และวางระบบให้ทั้งประชาชนและธุรกิจเกือบทั่วประเทศมีกฎคล้ายกันว่าอะไรรีไซเคิลได้และอะไรรีไซเคิลไม่ได้

...

เวลส์ยังวางเป้าหมายที่ชัดเจน โดยตั้งเป้าจะเพิ่มอัตราการรีไซเคิลขยะทั่วประเทศเป็น 70% ภายในปี 2568 นอกจากนี้ รัฐบาลเวลส์เตรียมออกกองทุนมูลค่า 6.5 ล้านปอนด์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ผลิตสินค้าในประเทศ, ช่วยบริษัทต่างๆ ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้นด้วย

5. สวิตเซอร์แลนด์

ปิดท้ายด้วยสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีอัตรารีไซเคิลขยะ 49.7% ในปี 2561 โดยหนึ่งในนั้นเป็นกุญแจสำคัญของพวกเขาก็คือ นโยบาย ‘คนก่อมลพิษจ่าย’ ซึ่งให้ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนจ่ายค่าขยะประเภทไม่สามารถรีไซเคิลได้ที่พวกเขาผลิตขึ้นมา

ลูกโลกที่ทำจากขยะในสวิตเซอร์แลนด์
ลูกโลกที่ทำจากขยะในสวิตเซอร์แลนด์

นโยบายของสวีเดนต่างจากของเยอรมนีกับออสเตรเลีย ที่ให้ผู้ผลิตจ่ายเพียงฝ่ายเดียว ทำให้ประชาชนต้องให้ความร่วมมือกับการรีไซเคิลมากขึ้น โดยตามปกติแล้วขยะครัวเรือนอย่างกระป๋อง, หลอดไฟ, กระดาษ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถรีไซเคิลได้ และสามารถหาจุดทิ้งขยะรีไซเคิลได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่ห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังมีมาตรการเก็บภาษีถุงขยะที่นำไปทิ้งที่หลุมฝังขยะด้วย.

...