หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานเมื่อ 21 พ.ค.ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาคว่ำบาตรบริษัท “ฮิควิชั่น” (Hikvision) ผู้ผลิตกล้องโทรทรรศน์วงจรปิดยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งจะทำให้ซื้อเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ไม่ได้ และบริษัทสหรัฐฯ ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลก่อนขายส่วนประกอบให้ฮิควิชั่น คล้ายกับกรณี “หัวเว่ย” บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของจีน ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ ห้ามบริษัทสหรัฐฯ ทำธุรกิจด้วย ส่งผลให้บริษัท “กูเกิล” เจ้าของระบบปฏิบัติการ “แอนดรอยด์” ในโทรศัพท์มือถือที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลกระงับการทำธุรกิจกับหัวเว่ย แต่ต่อมาสหรัฐฯ สั่งระงับการใช้มาตรการนี้ 90 วัน ถึง 19 ส.ค.เพื่อให้เวลาหาทางลดผลกระทบต่อผู้บริโภค
ด้านผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่น 2 บริษัท คือ “ซอฟต์แบงค์ คอร์ป.’ส์ วาย!” และ “เคดีดีไอ” เลื่อนการวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ “หัวเว่ย พี 30 ไลท์” ออกไปไม่มีกำหนด ทั้งยกเลิกการสั่งจองล่วงหน้า แต่หัวเว่ยยังเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ “ออเนอร์ 20” และ “ออเนอร์ 20 โปร” ที่กรุงลอนดอนเมื่อ 21 พ.ค.
ส่วนสภาหอการค้าอเมริกันในจีน (AmCham) และสาขาที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นตัวแทนบริษัทสหรัฐฯ กว่า 900 บริษัทในจีน เผยแพร่ผลสำรวจบริษัทสหรัฐฯ ในจีนราว 250 บริษัท ช่วง 16-20 พ.ค. หลังการเจรจาเพื่อยุติสงครามการค้าล้มเหลว โดยผลสำรวจระบุว่าบริษัทสหรัฐฯ ในจีนถึง 3 ใน 4 เผยว่า ตนได้รับผลกระทบด้านลบจากสงครามการค้า และเกือบ 50% เผยว่าถูกจีนใช้มาตรการต่างๆ ที่ไม่ใช่ภาษีตอบโต้ตั้งแต่ปีที่แล้ว และกว่า 40% เผยว่ากำลังพิจารณาหรือได้ย้ายฐานการผลิตจากจีนไปประเทศอื่น ส่วนทิม สแตรทฟอร์ด ประธาน AmCham เผยว่า บริษัทสหรัฐฯ ในจีนวิตกกังวลยิ่งเรื่องมาตรการตอบโต้จากจีน
...
ด้านบริษัทผลิตรองเท้า 173 บริษัท รวมทั้งยักษ์ใหญ่ “ไนกี้” และ “อาดิดาส” ร่วมส่งจดหมายเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ยุติสงครามการค้ากับจีน โดยเตือนถึงผลกระทบขั้นหายนะต่อผู้บริโภค และระบุว่าการที่ทรัมป์ขี้นภาษีสินค้าจีนอีก 200,000 ล้านดอลลาร์ จาก 10% เป็น 25% และจีนตอบโต้ขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ 60,000 ล้านดอลลาร์นั้น จะส่งผลกระทบต่อชนชั้นแรงงานและอนาคตของธุรกิจบางอย่าง
นายคุ่ย เทียนไค อัครราชทูตจีนประจำสหประ-ชาชาติเผยว่า จีนยังเปิดประตูพร้อมเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ แต่กล่าวหาสหรัฐฯ เป็นฝ่าย “เปลี่ยนใจ” บ่อยครั้ง ทำให้บรรลุข้อตกลงยุติสงครามการค้าไม่ได้ ขณะที่สายการบินใหญ่ที่สุดของจีน 3 สาย คือแอร์ ไชน่า, ไชน่า เซาเธิร์น แอร์ไลน์ส และไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส ยื่นคำร้องขอให้บริษัท “โบอิ้ง” ของสหรัฐฯ จ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการระงับการขึ้นบินและการเลื่อนส่งมอบเครื่องบิน “โบอิ้ง 737 แม็กซ์” หลังเครื่องบินรุ่นนี้ตก 2 ครั้งในช่วง 5 เดือน.