แต่ละปีมีการแข่งขันนกพิราบระยะไกล “แมคอาร์เธอร์” (MacArthur) ในฟิลิปปินส์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่เมืองแมคอาร์เธอร์ บนเกาะเลย์เต ภาคตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการแข่งนกพิราบที่โด่งดังและโหดที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

การแข่งขันมีระยะทางไกลถึง 600 กม. ใช้เวลาอย่างน้อย 10 ชม. นกพิราบต้องบินข้าม 3 ห้วงทะเลต้องเผชิญสภาพอากาศร้อนจัด คลื่นลมทะเล แม้แต่ไต้ฝุ่น ทำให้เหนื่อยอ่อนหมดแรงร่วงตายกลางทางจำนวนมาก

นอกจากนี้ นกพิราบที่เข้าแข่งราว 50-70% ยังถูกดักจับ ถูกยิง หรือถูกนกนักล่าเหยื่อ เช่น เหยี่ยวทำร้าย ทำให้รอดชีวิตบินกลับถึงกรงปลายทางในกรุงมะนิลาแค่ราว 1 ใน 10 หรือ 10% เท่านั้น!

วันเวลาแข่งนกพิราบมักถูกปิดเป็นความลับ ป้องกันพวกมือดีไปวางตาข่ายดักนกตามภูเขาต่างๆ เพราะนกพิราบแข่งดีๆที่เคยเป็นแชมป์ ขายได้ราคาสูงหลายพันดอลลาร์สหรัฐฯ หรือนับแสนบาท แต่ก็มีบางตัวถูกพวกดักนกหิวเงินขายแค่สิบกว่าดอลลาร์ หรือไม่กี่ร้อยบาท

การแข่งนกพิราบได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆในเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย จีน และไต้หวัน ทำให้นกพิราบแข่งดีๆมีราคาสูง โดยเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีชาวจีนประมูลซื้อนกพิราบแข่งระยะไกลที่ดีที่สุดของเบลเยียมไปในราคาสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1.25 ล้านยูโร (ราว 45 ล้านบาท)

“เอนไซโคลพีเดีย บริทันนิกา” ระบุว่า กีฬาแข่งนกพิราบระยะไกลมีขึ้นครั้งแรกในเบลเยียม ใน ค.ศ.1818 หรือ 201 ปีก่อน ซึ่งเบลเยียมยังเป็นศูนย์กลางของบรรดานักเลี้ยงนกพิราบแข่งมาจนถึงทุกวันนี้

กีฬาแข่งนกพิราบในฟิลิปปินส์ มีแรงจูงใจหลายอย่าง ทั้งเรื่องความคลั่งไคล้ตื่นเต้นของนักเลี้ยงนกพิราบ เรื่องเงินจากการพนันและธุรกิจซื้อขายนก ปัจจุบันในฟิลิปปินส์มีสโมสรนักเลี้ยงนกพิราบแข่งอย่างน้อย 300 แห่ง มีสมาชิกหลายพันคน แต่กลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์กล่าวหาว่าการแข่งนกพิราบระยะไกลนั้นโหดร้าย พวกมันต้องเผชิญภัยต่างๆนานาจนล้มตาย และนี่ไม่ใช่การกีฬา แต่เพื่อเงินและถ้วยรางวัลสำหรับคนเลี้ยงเท่านั้น

...

นักวิทยาศาสตร์ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่านกพิราบบินทางไกลกลับถึงกรงปลายทางโดยไม่หลงทางได้อย่างไร แต่มี 2 ทฤษฎีที่ยอมรับกันมากที่สุด คือ 1.พวกมันบินตามสนามแม่เหล็กโลกและมีสัมผัสด้านการดมกลิ่นพิเศษ และ 2.พวกมันใช้คลื่นความถี่เสียงต่ำยิ่ง (ULF) เป็นเครื่องมือทำแผนที่ภูมิประเทศ

ส่วนการแข่งนกพิราบระยะไกลเป็น “กีฬา” หรือไม่ ยังเป็นที่ถกเถียงคล้าย “ไก่ชน”!

บวร โทศรีแก้ว