ติมอร์ฯ กำลังจะกลายเป็นชาติแรกในโลกที่ปลอดขยะอย่างสิ้นเชิง จับมือกับบริษัทวิจัยออสเตรเลีย ใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลขยะพลาสติกชนิดที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อ 17 พ.ค.ว่า ติมอร์-เลสเต หรือชื่อเดิมว่าติมอร์ตะวันออก ประเทศน้องใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน แต่ก่อขยะพลาสติกถึง 70 ตันต่อวัน กำลังจะกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ปลอดขยะพลาสติกโดยสิ้นเชิง โดยรัฐบาลติมอร์-เลสเต ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับบริษัทวิจัย “มูรา เทคโนโลยี” ของออสเตรเลีย เพื่อร่วมตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรชื่อ “เรสเปคต์” เพื่อสร้างโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติกมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ จะเริ่มดำเนินการภายในสิ้นปี 2563 นี้
โรงงานดังกล่าวจะนำพลาสติกที่ใช้แล้วทั้งหมดมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ นั่นหมายความว่าติมอร์-เลสเตทั้งประเทศจะไม่มีขยะพลาสติกเป็นแห่งแรกในโลก โดยนายโธมัส มาสชเมเยอร์ ผู้ร่วมคิดค้นเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะพลาสติกสำหรับโรงงานดังกล่าวเผยว่า พลาสติก ถ้ามีการทิ้งที่ไม่ดี จะเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก แต่ถ้ามีการกำจัดที่ดี ก็จะเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง โดยเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในโรงงานแห่งนี้ จะใช้เทคโนโลยีด้านเคมี แปรสภาพขยะพลาสติกเป็นของเหลวและก๊าซอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเติมน้ำมันแร่เข้าไปด้วย ก่อนนำเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเทคโนโลยีรีไซเคิลแบบนี้ยังไม่มีใครทำมาก่อน
...
ทั้งนี้ หลายประเทศในเอเชีย ซึ่งเศรษฐกิจที่เติบโตและประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผนวกกับมีชายหาดที่กว้างใหญ่ไพศาลและประชากรแออัดในเมืองใหญ่ๆ ทำให้ท้องทะเลและชายหาดเต็มไปด้วยขยะต่างๆ รวมทั้งขยะพลาสติก ส่วนการกำจัดขยะและระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถก้าวตามทันการพัฒนาที่รวดเร็วนี้ได้ นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านขยะเผยว่า แต่ละปี มีขยะพลาสติกถูกทิ้งลงทะเลทั่วโลกมหาศาลมากกว่า 8 ล้านตัน หรือมีรถบรรทุกขยะ 1 คันต่อนาที ประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุด รวมทั้งจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย
กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ระบุว่า นอกจากขยะพลาสติกจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพมนุษย์และสัตว์ป่า-สัตว์น้ำอย่างรุนแรงแล้ว มันยังสร้างความสูญเสียต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การประมง และการเดินเรือมหาศาล คิดเป็นตัวเงินถึง 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 41,600 ล้านบาท) ต่อปี