(ภาพ : ขัดแย้ง-ประธานาธิบดีไมตรีปาลา สิริเสนา (ซ้าย) และนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห แห่งศรีลังกา ขณะร่วมประชุมรัฐสภาในปี 2560 ก่อนขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถยับยั้งการโจมตีในศรีลังกาได้ (รอยเตอร์))

เหตุโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ 6 จุดในศรีลังกาในวันอีสเตอร์เมื่อ 21 เม.ย. ทำให้ชาวโลกตกตะลึง! เพราะเกิดขึ้นในดินแดนชาวพุทธ และเป้าโจมตีเป็นโบสถ์คริสต์ 3 แห่งในเมืองเนกอมโบ เมืองบัตติคาลัว กรุงโคลัมโบ และโรงแรมหรู 3 แห่งในกรุงโคลัมโบ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 253 ศพ บาดเจ็บกว่า 500 คน

ทางการศรีลังการะบุว่ามือระเบิดพลีชีพมี 9 คน มีผู้นำชื่อซาห์ราน ฮาชิม วัย 40 ปี ทั้งหมดล้วนเป็นชาวศรีลังกา ส่วนผู้ต้องสงสัยถูกจับแล้ว 60 คน และชี้ว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นฝีมือ “เนชั่นแนล ธาวฮีด จามาธ” (เอ็นทีเจ) กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเล็กๆในประเทศซึ่งโยงใยกับกลุ่ม “เจเอ็มไอ” ในอินเดีย รมช.กลาโหมศรีลังกายังชี้ว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นการตอบโต้เหตุโจมตีมัสยิด 2 แห่งที่เมืองไครสต์เชิร์ชในนิวซีแลนด์เมื่อ 15 มี.ค. มีผู้เสียชีวิต 50 คน

ส่วน “กองกำลังรัฐอิสลาม” (ไอเอส) เจ้าเก่า ก็แถลงว่าเป็นผู้โจมตีฝ่ายพันธมิตรสหรัฐฯและชาวคริสต์ในศรีลังกา สอดคล้องกับนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห ที่ชี้ว่าไอเอสอาจเกี่ยวข้องกับการโจมตีครั้งนี้ เพราะการทำระเบิด การวางแผนและการลงมือใหญ่โตสลับซับซ้อนเกินกว่ากลุ่มเอ็นทีเจจะทำเองได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ว่าเป็นไปได้สูงที่กลุ่มเอ็นทีเจอาจมีเครือข่ายก่อการร้ายสากลอย่าง “อัล เคดา” และ “ไอเอส” ช่วยเหลือ โดยเฉพาะไอเอสซึ่งถูกกวาดล้างจนสูญเสียที่มั่นทั้งหมดในอิรักและซีเรีย จึงอาจใช้แนวร่วมท้องถิ่นในประเทศอื่นโจมตีแทน!

...

น่าสังเกตว่า ในมือระเบิดพลีชีพ 9 คน ซึ่ง 1 คนเป็นสตรี ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางและชนชั้นกลางระดับสูงที่มีการศึกษาและฐานะดี โดย 2 คนเป็นพี่น้องชายจากตระกูลพ่อค้าเครื่องเทศที่ร่ำรวย อีกคนจบการศึกษาจากอังกฤษก่อนไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย และหลายคนเคยเดินทางไปต่างประเทศ จึงอาจมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มไอเอส เรื่องนี้สอดคล้องกับการเปิดเผยของ รมว.ยุติธรรมศรีลังกาเมื่อปี 2559 ว่า มีชาวมุสลิมในครอบครัวชนชั้นสูงที่มีการศึกษา 32 คนเดินทางไปร่วมกลุ่มไอเอสในซีเรีย คนกลุ่มนี้อาจกลับมาโจมตีประเทศของตัวเอง

“สาธารณรัฐสังคมประชาธิปไตยศรีลังกา” เป็นประเทศเกาะเล็กๆในมหาสมุทรอินเดีย เดิมมีชื่อว่าลังกา ลังกาทวีป สิงหลทวีป และซีลอน มีพื้นที่ 65,610 ตร.กม. มีประชากรราว 21.2 ล้านคน เคยตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ฮอลแลนด์ และอังกฤษ เกือบ 500 ปี ก่อนได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ 4 ก.พ.2491

ประชากรศรีลังกาส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหล มีผู้นับถือศาสนาพุทธมากที่สุด 70.19% ฮินดู 12.61% อิสลาม 9.71% คริสต์ 7.45% แม้จะมีภูมิประเทศสวยงาม แต่เกาะศรีลังกาซึ่งมีรูปร่างคล้าย “หยดน้ำตา” เสมือนดินแดนต้องคำสาป มีแต่ความรุนแรงมายาวนาน โดยเฉพาะหลังกลุ่ม “พยัคฆ์ทมิฬอีแลม” (แอลทีทีอี) ก่อตั้งขึ้นในปี 2519 เพื่อต่อสู้แยกดินแดนของชาวทมิฬชนกลุ่มน้อยบนคาบสมุทรจาฟนาทางภาคเหนือและตะวันออก เฉียงเหนือ

สงครามกลางเมืองปะทุขึ้นเต็มตัวในปี 2526 กว่ารัฐบาลจะปราบกบฏทมิฬและสังหารนายเวฬุพิไล ประภาการัน ผู้นำแอลทีทีอีได้เมื่อปี 2552 สมัยนายมหินทา ราชปักษา เป็นประธานาธิบดี และมี ผบ.ส.ส. ผู้เก่งกาจชื่อสารัธ ฟอนเซกา ก็ใช้เวลาถึง 26 ปี มีผู้เสียชีวิต 70,000-80,000 คน!

นายไมตรีปาลา สิริเสนา อดีต รมว.สาธารณสุข ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ชนะเลือกตั้งในปี 2558 เหนือนายราชปักษาซึ่งถูกกล่าวหาคอร์รัปชันและเป็นเผด็จการ โดยสิริเสนาผนึกกำลังฝ่ายค้านที่แตกแยกได้และสัญญาจะปฏิรูปสถาบันประธานาธิบดี นำตัวผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงในยุคสงครามกลางเมืองมารับโทษ

แต่สิริเสนาเกิดขัดแย้งกับนายกฯวิกรมสิงเห พันธมิตรเก่าอย่างรุนแรง ทำให้เขาสั่งยุบรัฐสภาและปลดวิกรมสิงเหในเดือน ต.ค.2561 และตั้งราชปักษาเป็นนายกฯ แทน ส่งผลให้เกิดวิกฤติการเมือง จนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้คืนสถานะรัฐสภาและให้วิกรมสิงเหกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งในเดือน ธ.ค.ปีเดียวกัน

ตั้งแต่นั้น สิริเสนากับวิกรมสิงเหก็งัดข้อกันมาตลอด จนเกิดเป็น 2 ขั้วอำนาจ สาเหตุหนึ่งมาจากสิริเสนาฝักใฝ่มหาอำนาจ “จีน” ส่วนวิกรมสิงเหฝักใฝ่ “อินเดีย” คู่แข่งของจีน

มหาวินาศ-โบสถ์เซนต์ เซบาสเตียน ในเมืองเนกอมโบ ทางเหนือกรุงโคลัมโบ พังพินาศย่อยยับ ร่างผู้เสียชีวิตนอนเกลื่อนกลาด หลังถูกโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ ซึ่งเหตุโจมตีโบสถ์และโรงแรมหลายแห่งในศรีลังกาในวันอีสเตอร์ เมื่อ 21 เม.ย. ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 253 ศพ บาดเจ็บกว่า 500 คน (เอพี)
มหาวินาศ-โบสถ์เซนต์ เซบาสเตียน ในเมืองเนกอมโบ ทางเหนือกรุงโคลัมโบ พังพินาศย่อยยับ ร่างผู้เสียชีวิตนอนเกลื่อนกลาด หลังถูกโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ ซึ่งเหตุโจมตีโบสถ์และโรงแรมหลายแห่งในศรีลังกาในวันอีสเตอร์ เมื่อ 21 เม.ย. ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 253 ศพ บาดเจ็บกว่า 500 คน (เอพี)

...

ก่อนเหตุโจมตี สำนักงานความมั่นคงศรีลังกาได้รับแจ้งจากหน่วยข่าวกรองของอินเดียเมื่อ 4 เม.ย. ว่ากลุ่มเอ็นทีเจมีแผนโจมตีโบสถ์คริสต์สำคัญๆ และได้แจ้งต่อไปยังตำรวจเมื่อ 11 เม.ย. ก่อนเกิดเหตุ 10 วัน แต่นายกฯวิกรมสิงเหและรัฐบาลกลับไม่ได้รับแจ้งใดๆ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงก็นิ่งเฉยไม่พยายามยับยั้งการโจมตี เรื่องนี้ทำให้สิริเสนาประกาศยกเครื่องหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมด รวมทั้งปลด รมว.กลาโหมและ ผบ.ตร.

เหตุโจมตีศรีลังกายังทำให้กลุ่ม “เอ็นทีเจ” โด่งดังไปทั่วโลก หลังเพิ่งเป็นที่รู้จักปีที่แล้วในข้อหาบุกทำลายพระพุทธรูปในวัดที่เมืองมาวาเนลลาทางภาคกลาง แต่แทบไม่มีการเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียจึงแกะรอยลำบาก โดยเอ็นทีเจมีผู้นำชื่อโมฮัมเหม็ด ซาห์ราน แยกตัวออกมาจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอีกกลุ่มชื่อ “ศรีลังกา ธาวฮีด จามาธ” (เอสแอลทีเจ) มีผู้นำชื่ออับดุล ราซิค ซึ่งถูกจับในปี 2559 ในข้อหายุยงให้ชาวมุสลิมเกลียดชังชาวพุทธ

มีผู้ชี้ว่าความล้มเหลวของหน่วยงานความมั่นคงและตำรวจมีสาเหตุจากความขัดแย้งในหมู่ผู้นำศรีลังกาด้วย เพราะหลายองค์กรมีผู้นำที่สังกัดคนละขั้วอำนาจ และมัก “กั๊ก” กันเองในเรื่องสำคัญๆ จนไม่สามารถยับยั้งโศกนาฏกรรมร้ายแรงครั้งนี้ได้!

บวร โทศรีแก้ว