หลายคนอาจได้ยินข้อมูลมากมายเกี่ยวกับสิ่งที่เหมาะสมต่อสุขภาพการนอนหลับ รวมถึงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อการนอน ซึ่งมีการสำรวจล่าสุดโดยนักวิจัยจากวิทยาลัยแพทย์แห่งศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ในอเมริกา เผยว่า มีความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมการนอนหลับที่แพร่กระจายไปทั่วอินเตอร์เน็ตและแหล่งข้อมูลอื่นๆ

ทีมวิจัยได้สำรวจและให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพการนอนหลับตรวจสอบความเชื่อเหล่านั้น พบว่ามี 5 ตำนานความเชื่อที่อันตราย อันดับแรกคือเชื่อว่าการหลับได้ทุกที่ทุกเวลานั้นเป็นของขวัญ แต่จริงๆ แล้วไม่ดีต่อสุขภาพเพราะร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างถูกต้อง อันดับ 2 คือเชื่อว่าต้องนอนน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น ราว 5 ชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้น แต่ผลวิจัยเมื่อปี 2550 เผยว่า คนที่หลับ 5 ชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้นในทุกคืน มีโอกาสตายเร็วขึ้นถึง 2 เท่า และหลายผลการวิจัยชี้ว่าเมื่อนอนหลับน้อย ก็จะมีแนวโน้มป่วยหรือทุกข์ทรมานจากสภาวะทางร่างกายและจิตใจที่หลากหลาย แนะนำว่าควรนอนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนที่คิดว่าการนอนกรนเป็นเรื่องปกติไม่เป็นอันตราย ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเผยว่า การกรนคืออาการหยุดหายใจขณะหลับ อันเป็นการนอนที่ผิดปกติ

นอกจากนี้ยังมีคนคิดว่าการนอนน้อยลงร่างกายจะปรับตัวเข้ากับการนอนหลับน้อย ซึ่งก็ไม่จริงเลย เพราะจะมีการนอนที่เรียกว่าระยะ REM (rapid eye movement) ดวงตาจะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในทิศทางต่างกันไป ถือเป็นระยะการนอนหลับที่ลึกที่สุด ถ้านอนน้อยก็จะส่งผลต่อสมอง ส่วนคนที่ตั้งเสียงนาฬิกาปลุกและชอบเลื่อนนาฬิกาบ่อยๆ ก็จะนำไปสู่การตื่นขึ้นมามึนงง มีอารมณ์หงุดหงิดโดยเฉพาะตื่นขึ้นขณะที่กำลังหลับในระยะ REM นั่นเอง.