เป็นที่ทราบกันดีว่าตลอดระยะเวลา 3,000 ปีของหน้าประวัติศาสตร์ไอยคุปต์เคยมีฟาโรห์ที่เป็นอิสตรีขึ้นครองบัลลังก์แห่งลุ่มแม่น้ำไนล์มาแล้วอย่างน้อย 5 พระองค์ แต่ฟาโรห์หญิงที่ฝากผลงานเอาไว้บนผืนแผ่นดินอียิปต์มากที่สุด อีกทั้งยังมี “เรื่องฉาว” ให้กล่าวถึงมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นฟาโรห์หญิง “ฮัตเชปซุต” (Hatshepsut) เป็นแน่แท้ล่ะครับ

สาวกไอยคุปต์ทั่วโลกรู้จักพระองค์เป็นอย่างดีจากการที่พระองค์แต่งองค์ทรงเครื่องเยี่ยงบุรุษฟาโรห์ จนทำให้บางครั้งเราก็ขนานนามพระองค์ว่า “ราชินีมีเครา” ด้วยว่าภาพสลักทั้งแบบสองมิติบนผนังวิหาร รวมทั้งภาพสลักแบบลอยตัวสามมิติของพระนางฮัตเชปซุตในบทบาทของฟาโรห์หญิงนั้นมักจะแสดงภาพของ “เคราปลอม” สวมอยู่ที่คางของนางด้วยเสมอๆ

ซึ่งผลงานทางด้านกรณียกิจของฟาโรห์หญิงองค์นี้ก็ถือได้ว่าโดดเด่นไม่แพ้ฟาโรห์ชาย ดังนั้นก่อนที่คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนจะเล่าถึง “เรื่องฉาว” ในสมัยของฮัตเชปซุต คงต้องขอปูพื้นถึงเรื่องราวที่มาที่ไปของพระนางให้ได้ทราบกันเสียก่อน

พระนางฮัตเชปซุต.
พระนางฮัตเชปซุต.

...

ย้อนกลับไปในช่วงสมัยราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) เมื่อประมาณ 1,470 ปีก่อนคริสตกาล ฟาโรห์ทุธโมซิสที่ 2 (Tuthmosis II) ขึ้นครองบัลลังก์ มเหสีของพระองค์ก็คือพระนางฮัตเชปซุตนี่ล่ะครับ แต่ทุธโมซิสที่ 2 ยังมีมเหสีองค์รองอีกองค์หนึ่งชื่อว่าราชินีไอซิส (Isis) เรื่องราวมาเกิดตรงที่ทุธโมซิสที่ 2 กับ ฮัตเชปซุตไม่มีโอรสที่สามารถครองบัลลังก์ต่อจากพระองค์ได้เลย ทั้งคู่มีเพียงธิดาองค์เดียวชื่อ “เนเฟอรูเร” (Neferure) แต่สวรรค์ก็เป็นใจ เพราะมเหสีองค์รองที่ชื่อว่าไอซิสนั้นได้ให้กำเนิดโอรสตามที่ทุธโมซิสที่ 2 ปรารถนา โอรสองค์นี้คือเจ้าชายทุธโมซิสผู้ที่กำลังจะได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นฟาโรห์ ทุธโมซิสที่ 3 (Tuthmosis III) ผู้โด่งดังในฐานะฟาโรห์ยอดนักรบ

ฟาโรห์ทุธโมซิสที่ 2 ไม่แข็งแรงนัก พระองค์ครองบัลลังก์ได้เพียงแค่ 3 ถึง 4 ปีเท่านั้นก็ผลัดแผ่นดิน ผู้ที่ขึ้นครองบัลลังก์ต่อคือ เจ้าชายทุธโมซิส ซึ่งเป็นโอรสของมเหสีองค์รอง ทว่าเจ้าชายยังเด็กนักจึงไม่สามารถขึ้นว่าราชการได้ด้วยตัวเอง ฮัตเชปซุตซึ่งเป็นอดีตมเหสีของฟาโรห์ทุธโมซิส ที่ 2 จึงต้องเข้ามาสำเร็จราชการร่วมกับเจ้าชายองค์น้อยไปก่อน หลังจากนั้นในปีที่ 7 ของการครองราชย์ร่วม ฮัตเชปซุตก็ตัดสินใจแต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นฟาโรห์ แต่งองค์ทรงเครื่องเยี่ยงบุรุษฟาโรห์โดยไม่ลืมที่จะหยิบเคราปลอมมาสวมเพื่อสื่อถึงความเป็นกษัตริย์ด้วย

รูปสลักฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุตซึ่งมีเคราปลอมปรากฏอยู่.
รูปสลักฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุตซึ่งมีเคราปลอมปรากฏอยู่.

เรื่องฉาวมาเกิดตอนที่พระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นฟาโรห์หญิงเต็มตัวแล้วนี่ล่ะครับ บุรุษผู้ตกเป็นข่าวฉาวกับฟาโรห์หญิงคือ หนึ่งในขุนนางคนสำคัญ อีกทั้งยังเป็นคนสนิทชิดเชื้อของฮัตเชปซุตอีกด้วย เขาคือสถาปนิกที่มีชื่อว่า “เซนมุต” (Senmut) บุรุษผู้นี้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆและทำหน้าที่หลากหลายบทบาทในราชสำนักของฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุต ความสนิทชิดเชื้อที่มากผิดปกตินี้กระตุ้นให้นักวิชาการบางท่านเสนอแนวคิดที่ฟังแล้วน่าติดตามยิ่งว่าบางที “เซนมุต” คนนี้อาจจะเป็น “ชู้รัก” แบบลับๆของฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุตก็เป็นได้!!

ว่าแต่เซนมุตคนนี้เป็นใครกันแน่? ถ้าว่ากันตามประวัติที่นักอียิปต์วิทยาพอจะทราบจากหลักฐานทางโบราณคดีที่หลงเหลืออยู่ของบุรุษคนสำคัญในรัชสมัยของฮัตเชปซุตคนนี้แล้ว เราทราบว่าเซนมุตเกิดจากครอบครัวชนชั้นกลางที่มีพื้นเพดั้งเดิมอยู่ที่เมืองอาร์มันต์ (Armant) ทางตอนใต้ของเมืองธีบส์ (Thebes) หรือลักซอร์ปัจจุบัน พ่อของเซนมุตชื่อราโมส (Ramose) ส่วนแม่ของเขามีชื่อว่าฮัตเนเฟอร์ (Hatnefer) ครอบครัวของเซนมุตเองก็ไม่ได้มีชื่อเสียง หรือร่ำรวยอะไรมากนักหรอกครับ แต่ก็คงมีฐานะในระดับหนึ่ง เพราะราโมสกับฮัตเนเฟอร์สามารถผลักดันให้บุตรชายของตนเองศึกษาเล่าเรียนจนสามารถอ่านออกเขียนได้ นั่นยิ่งช่วยเปิดโอกาสให้เซนมุตสามารถก้าวขึ้นมาทำงานในตำแหน่งระดับสูงของราชสำนักแห่งองค์ฟาโรห์ได้ง่ายขึ้น

นักอียิปต์วิทยาพบว่าสุสานของราโมสผู้เป็นบิดานั้นถูกสร้างอย่างง่ายๆ ไม่มีอะไรหรูหรามากนัก แถมยังไม่มีแม้แต่เครื่องใช้ในชีวิตหลังความตายผิดกับสุสานของฮัตเนเฟอร์ผู้เป็นมารดาที่สร้างขึ้นทีหลังแต่มีความโอ่อ่ามากกว่าชนิดผิดหูผิดตา นักอียิปต์วิทยาจึงเสนอว่า บางทีสุสานของฮัตเนเฟอร์อาจจะถูกสร้างขึ้นในช่วงที่เซนมุตได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญในราชสำนักของฮัตเชปซุตเรียบร้อยแล้ว ก็เลยมีทรัพย์สินมากมายจนสามารถสร้างสุสานขนาดใหญ่และจัดหาเครื่องใช้ราคาแพงมาใส่เอาไว้ในสุสานของมารดาได้อย่างง่ายดาย

...

ภาพร่างของเซนมุต.
ภาพร่างของเซนมุต.

เส้นทางอาชีพของเซนมุตก็ถือได้ว่าน่าสนใจไม่น้อยครับ เราทราบว่า เขาเริ่มต้นชีวิตในวัยรุ่นด้วยอาชีพทางสายทหาร ทว่าหลังจากนั้นก็เปลี่ยนเส้นทางมาเดินในสายบริหารบ้านเมืองแทน ชีวิตการทำงานสายบริหารของเซนมุตเริ่มต้นในช่วงการครองราชย์ของฟาโรห์ทุธโมซิสที่ 2 และด้วยความสามารถอันเก่งกล้าของเซนมุตจึงทำให้เขาโดดเด่นเป็นที่จดจำจนสามารถก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งระดับสูงได้อย่างรวดเร็ว เซนมุตดำรงตำแหน่งต่างๆ มากมายถึงกว่า 90 ตำแหน่ง หนึ่งในตำแหน่งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุตอย่างชัดเจนคือ ตำแหน่ง “ผู้ดูแลธิดาแห่งกษัตริย์” (Steward of King’s Daughter) และธิดาที่ว่านี้ก็คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเจ้าหญิงเนเฟอรูเร ที่เกิดจากฟาโรห์ทุธโมซิสที่ 2 กับราชินีฮัตเชปซุตนั่นเองครับ

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เซนมุตก็ได้รับหน้าที่สำคัญดังปรากฏให้เห็นในภาพสลักบ่อยครั้งนั่นก็คือการเป็น “ครูพิเศษ” (Tutor) ส่วนตัวของเจ้าหญิงเนเฟอรูเร นักอียิปต์วิทยาพบภาพสลักของเซนมุตร่วมสิบชิ้นและภาพสลักส่วนใหญ่มักแสดงให้เห็นว่าเซนมุตกำลัง “อุ้ม” เจ้าหญิงเนเฟอรูเรเอาไว้ในท่วงท่าที่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับธิดาของฮัตเชปซุต และนั่นก็ย่อม
หมายถึงความสนิทชิดเชื้อเป็นพิเศษกับตัวของฟาโรห์หญิงเองด้วย

...

รูปสลักเซนมุตกำลังอุ้มเจ้าหญิงเนเฟอรูเร.
รูปสลักเซนมุตกำลังอุ้มเจ้าหญิงเนเฟอรูเร.

อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของเซนมุตในรัชสมัยการครองราชย์ของฮัตเชปซุตก็คือ การดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าสถาปนิกโครงการ” (Chief Architect on the Project) ที่ควบคุมดูแลการออกแบบวิหารประกอบพิธีศพ (Mortuary Temple) ของฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุต ซึ่งเป็นวิหารที่มีระเบียงสามระดับชั้นเชื่อมต่อกันด้วยเนินทางลาด ในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อวิหารเดียร์ เอล-บาฮารีย์ (Deir el-Bahari) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำไนล์ในเมืองลักซอร์ และปัจจุบันวิหารแห่งนี้ก็ได้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกเลยล่ะครับ

เซนมุตยังได้ออกแบบสุสานของตัวเองเอาไว้ถึง 2 แห่งด้วยกัน สุสานแห่งแรกอยู่ในกลุ่มสุสานของเมืองธีบส์ รู้จักกันในชื่อสุสานรหัส TT71 ตั้งอยู่ใกล้กับสุสานของราโมสและฮัตเนเฟอร์ แต่สุสานแห่งนี้กลับมีเพียงแค่ห้องโถงเสาที่ประดับไปด้วยเสา 8 ต้น พร้อมด้วยโถงทางเดินเข้าไปด้านในสุสาน ทว่ากลับไม่มีหลักฐานของห้องฝังศพปรากฏให้เห็นในสุสานแห่งนี้แต่อย่างใด

...

วิหารประกอบพิธีศพของฮัตเชปซุตซึ่งเซนมุตเป็นผู้ออกแบบ.
วิหารประกอบพิธีศพของฮัตเชปซุตซึ่งเซนมุตเป็นผู้ออกแบบ.

สุสานแห่งที่สองของเซนมุตตั้งอยู่ใกล้กับวิหารของพระนางฮัตเชปซุตที่เดียร์ เอลบาฮารีย์ ในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อสุสานรหัส TT353 สุสานแห่งนี้เปรียบประหนึ่ง “สุสานลับ” ด้วยว่าเป็นสุสานที่ถูกขุดเจาะเข้าไปในหน้าผาคล้ายกับสุสานในหุบผากษัตริย์ขององค์ฟาโรห์ สุสานแห่งนี้มีลักษณะเป็นทางเดินยาวลึกเข้าไปในหน้าผา มีห้องทั้งหมดสามห้อง และเพดานของหนึ่งในนั้นถือได้ว่าสมบูรณ์และงดงามเป็นอย่างยิ่ง ด้วยว่ามีการวาดภาพของ “แผนผังดวงดาว” (Astronomical Ceiling) ตามความเชื่อของชาวไอยคุปต์ ลงไปบนเพดานสุสานเป็นครั้งแรกๆ นักอียิปต์วิทยาตั้งคำถามว่าสุสาน TT353 ของเซนมุตนี้จะถือว่าเสร็จสมบูรณ์แล้วหรือไม่ เพราะพบหลักฐานของการตกแต่งห้องเพียงแค่ห้องเดียวเท่านั้นเอง แถมยังไม่มีการค้นพบหลักฐานว่าเซนมุตเคยฝังร่างของตนเองเอาไว้ในสุสาน TT353 จริงๆเสียด้วย แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นักอียิปต์วิทยาพบว่าสุสานแห่งนี้ถูกผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาทำลายอย่างจงใจ หลังจากที่เซนมุตเสียชีวิตลงแล้ว นั่นจึงนำมาสู่คำถามที่ว่า การทำลายสุสานของเซนมุตจะเกี่ยวข้องกับ “เรื่องฉาว” ของเขากับฮัตเชปซุตด้วยหรือไม่?

ชื่อของเซนมุต (ขวาล่าง) ในสุสานของเขาถูกทำลาย.
ชื่อของเซนมุต (ขวาล่าง) ในสุสานของเขาถูกทำลาย.

จริงๆแล้ว สิ่งที่ทำให้นักอียิปต์วิทยาตั้งคำถามเกี่ยวกับความรักระหว่างฟาโรห์หญิงกับสถาปนิกคนสนิทเกิดขึ้นมาจากหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงความสนิทชิดเชื้อระหว่างเซนมุตกับฮัตเชปซุตที่มากเกินกว่าความสนิทของฟาโรห์กับขุนนางทั่วไป เช่น การที่เซนมุตได้ดูแลเจ้าหญิงเนเฟอรูเรอย่างใกล้ชิด รวมถึงข้อสงสัยอีกประการหนึ่งก็คือ นักอียิปต์วิทยาไม่เคยค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นใดที่แสดงให้เห็นถึง “ภรรยา” ของเซนมุตเลยครับ ภาพสลักส่วนใหญ่แสดงภาพของเซนมุตเคียงคู่กับบุคคลในครอบครัว แต่ไม่เคยเห็นภาพภรรยาของเขาเลยสักภาพเดียว นั่นหมายความว่า เขาครองตัวเป็นโสด หรือเขามี “ภรรยาลับ” ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้กันแน่?

อีกหนึ่งหลักฐานที่นักอียิปต์วิทยานำมาเสนอว่าอาจจะแสดงให้เห็นถึงความรักระหว่างฟาโรห์หญิงกับสถาปนิกหนุ่มคือ การที่ฮัตเชปซุตยอมให้มีรูปสลักและชื่อของเซนมุตปรากฏอยู่ในพื้นที่ต่างๆของวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ได้โดยที่ไม่เคยมีสามัญชนคนใดในรัชสมัยของฮัตเชปซุต รวมถึงขุนนางคนใดใน รัชสมัยของฟาโรห์องค์อื่นๆเคยได้รับสิทธิพิเศษเช่นนี้มาก่อน แน่นอนครับว่าสำหรับสามัญชนทั่วไป แล้ว การปรากฏภาพ หรือชื่อของตนเองในพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของวิหารเช่นนี้ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (Lèse-majesté) แต่สำหรับเซนมุตแล้ว ดูเหมือนว่าฮัตเชปซุตจะอนุญาตให้บุรุษผู้นี้เข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของวิหารได้อย่างเต็มใจ

ภาพร่างปริศนาในสุสานที่อาจจะเป็นเซนมุตกับฮัตเชปซุต.
ภาพร่างปริศนาในสุสานที่อาจจะเป็นเซนมุตกับฮัตเชปซุต.

หลักฐานสุดท้ายที่ถือได้ว่าน่าสนใจที่สุด เพราะ “อาจจะ” เป็นหลักฐานที่มาจากชนโบราณเองคือภาพร่าง (Graffiti) ที่ปรากฏบนผนังสุสานที่ไม่ถูกใช้งานแห่งหนึ่งในเมืองธีบส์ แสดงภาพ “ติดเรต” ที่แสดงให้เห็นบุรุษกับสตรีที่ “ดูเหมือน” สวมมงกุฎเนเมส (Nemes) ซึ่งเป็นมงกุฎของฟาโรห์แห่งไอยคุปต์กำลังอยู่ในท่วงท่าของการ “ร่วมเพศ” ถึงแม้ว่าภาพที่ปรากฏอยู่นั้นจะไม่ได้มีการจารึกชื่อกำกับเอาไว้อย่างชัดเจนว่าใครเป็นใคร (ก็แหงล่ะครับ) อีกทั้งยังไม่มีการสรุปอย่างชัดเจนว่าเป็นภาพที่วาดขึ้นในสมัยของฮัตเชปซุตด้วยหรือไม่ แต่ภาพดังกล่าวก็ชวนให้จินตนาการเตลิดไปไกลว่าบางทีรักลับๆอาจจะเกิดขึ้นจริงจนคนงานนำไปวาดเล่นเป็นภาพล้อเลียนก็เป็นได้

สุดท้ายแล้ว ทุกวันนี้เราก็ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนหรอกครับว่า เซนมุตจะเป็นรักลับๆของฮัตเชปซุตจริงหรือไม่ เราทราบเพียงแค่ว่าเซนมุตคือขุนนางคนสนิทของฮัตเชปซุตที่มีหลักฐานชวนให้คิดไปไกลถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง แต่ตราบเท่าที่ยังไม่มีหลักฐานที่หนักแน่นกว่านี้ออกมาสนับสนุนหรือหักล้าง ความรักแบบลับๆของฮัตเชปซุตก็จะยัง คงเป็นความลับเช่นนี้ต่อไป.

โดย : สืบ สิบสาม
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน