ทั่วโลกรอลุ้นผลการสอบสวนอุบัติเหตุเครื่องบิน “โบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8” ของสายการบินเอธิโอเปียตกเมื่อ 10 มี.ค. ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่าอาจเกิดจากระบบป้องกันภาวะไร้แรงยก (Anti-stall system) หรือ “เอ็มซีเอเอส” บกพร่อง เพราะลักษณะการตกคล้ายกรณีเครื่องบินรุ่นนี้ของ “ไลอ้อน แอร์” ของอินโดนีเซียตกเมื่อเดือน ต.ค.2561 ไม่ผิดเพี้ยน

ตอนแรกเอธิโอเปียขอให้เยอรมนีช่วยนำการสอบสวน แต่ถูกปฏิเสธ จึงหันไปหาฝรั่งเศส ซึ่ง “สำนักงานสอบสวนอุบัติเหตุทางอากาศฝรั่งเศส” (บีอีเอ) ก็รับอาสา จึงส่งกล่องดำทั้ง 2 กล่อง คือกล่องบันทึกข้อมูลทางการบิน และกล่องบันทึกเสียงในห้องนักบินไปให้บีอีเอ งานนี้จึงเชื่อขนมกินได้

บีอีเอตั้งอยู่ที่เมืองเลอ บูกเช ชานกรุงปารีส มีเทคโนโลยีและประสบการณ์สูงมากในการสอบสวนอุบัติเหตุเครื่องบินตกหรือเหตุที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินพาณิชย์อื่นๆ ปกติบีอีเอก็มักช่วยประเทศต่างๆที่ไม่มีศักยภาพสอบสวนเองบ่อยๆอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อเครื่องบิน “แอร์บัส” ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในฝรั่งเศสและเป็นคู่แข่งของโบอิ้งเกิดอุบัติเหตุ ทีมสอบสวนของบีอีเอเป็นต้องถูกเรียกใช้งานทันที

...

อุบัติเหตุเครื่องบินตกครั้งใหญ่ๆที่บีอีเอเป็นผู้นำการสอบสวน รวมทั้งกรณีเครื่องบินโดยสารของ “เยอรมันวิงส์” ตกในปี 2558 ซึ่งผลการวิเคราะห์กล่องดำสรุปได้ว่า “นักบินผู้ช่วย” จงใจนำเครื่องบินพุ่งชนเทือกเขาอัลไพน์ หลังจากล็อกห้องนักบินไม่ให้นักบินที่ 1 หรือกัปตันเข้าไปได้

อีกกรณีคืออุบัติเหตุเครื่องบิน “แอร์ฟรานซ์” เที่ยวบิน 447 ระหว่างนครริโอ เด จาเนโรในบราซิล กับกรุงปารีสตกจมทะเลลึกในมหาสมุทรแอตแลน-ติกในปี 2552 ซึ่งกว่าจะค้นพบและกู้กล่องดำได้ก็ผ่านไป 2 ปี ผลการสอบสวนสรุปว่าอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจจับความเร็วมีน้ำแข็งเกาะหนา ส่งผลให้เกิดความสับสนในห้องนักบิน

ปกติการวิเคราะห์กล่องดำจะใช้เวลาหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสภาพกล่องดำ ว่ายังสมบูรณ์หรือเสียหายมากน้อยเพียงใด ผลการสอบสวนเครื่องบิน “เอธิโอเปียน แอร์ไลน์ส” เที่ยวบินอีที 302 ตก จึงต้องรออีกสักพักกว่าจะรู้ว่าอะไร เป็นอะไร เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป

แต่ที่แน่ๆ เกียรติภูมิของ “โบอิ้ง” เสียหายย่อยยับไปแล้ว!

บวร โทศรีแก้ว