10 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 60 ปี การเริ่มก่อการกำเริบหรือการลุกฮือก่อการกบฏในทิเบต (Tibet Uprising) เพื่อต่อต้านอำนาจจีน ใน พ.ศ. 2502 แต่ล้มเหลว ส่งผลให้องค์ทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตและคณะต้องลี้ภัยไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่เมืองธรรมศาลา ทางภาคเหนืออินเดีย

ตั้งแต่นั้น จีนและรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตก็ต่อสู้ทางการเมือง-การทูตอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด โดยจีนยืนยันว่าทิเบตเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนมาหลายร้อยปี ก่อนที่กองทัพพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยึดทิเบตใน พ.ศ. 2493 หลังมีการสู้รบช่วงสั้นๆ แต่ชาวทิเบตจำนวนมากโต้แย้งว่าทิเบตเป็นเอกราชในช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่จีนกล่าวอ้าง

จีนกล่าวหาว่าองค์ทะไล ลามะ พยายามแยกทิเบตเป็นเอกราช แต่องค์ทะไล ลามะ ปฏิเสธว่าเพียงต้องการสิทธิปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น รัฐบาลจีนยังปฏิเสธที่จะเจรจากับองค์ทะไล ลามะ หรือผู้แทนของท่านอย่างเด็ดขาด จนกว่าองค์ทะไล ลามะ จะเลิกขอสิทธิปกครองตนเองมากขึ้นและยอมรับอำนาจของจีนโดยชัดแจ้ง

จีนยิ่งปกครองทิเบตเข้มงวดขึ้นหลังเกิดการประท้วงต่อต้านอำนาจจีนในทิเบตอีกครั้งใน พ.ศ.2551 ซึ่งรุนแรงถึงขั้นมีการโจมตีธุรกิจและประชาชนชาวฮั่นชนส่วนใหญ่ของจีนที่เข้าไปลงหลักปักฐานในทิเบต รัฐบาลจีนระบุว่าผู้ก่อจลาจลฆ่าคนตายไป 18 คน แต่ไม่เผยว่าทหาร-ตำรวจจีนสังหารผู้ก่อจลาจลหรือไม่เท่าใด?

จีนส่งกองกำลังรักษาความมั่นคงเข้าไปควบคุมทิเบตอย่างเข้มงวด ชาวทิเบตพลัดถิ่นจำนวนมากกล่าวหาว่าจีนกดขี่ข่มเหงและส่งชาวฮั่นเข้าไปตั้งรกราก กอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรของทิเบต ขณะที่ภาษาและวัฒนธรรมของชาวพุทธที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวทิเบตถูกจีนบ่อนทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ

วาระครบรอบการก่อกบฎในทิเบตแต่ละปี ชาวทิเบตทั่วโลกจะจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรำลึกและเรียกร้องให้ชาวโลกรับรู้เห็นใจในชะตากรรมของทิเบตที่ถูกจีนครอบงำ ขณะที่จีนก็มักตอบโต้อย่างเข้มข้น ซึ่งปีนี้ก็เช่นกัน ชาวทิเบตทั่วโลก รวมทั้งในสหรัฐฯ อินเดีย และไต้หวันก็เคลื่อนไหวอย่างคึกคัก

...

อยู่ข้างจีน–กเยนเคน นอร์บุ ปันเชนลามะ องค์ที่ 11 แห่งทิเบต ซึ่งรัฐบาลจีนเป็นผู้แต่งตั้ง เข้าร่วมการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีนที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 10 มี.ค. (เอเอฟพี)
อยู่ข้างจีน–กเยนเคน นอร์บุ ปันเชนลามะ องค์ที่ 11 แห่งทิเบต ซึ่งรัฐบาลจีนเป็นผู้แต่งตั้ง เข้าร่วมการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีนที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 10 มี.ค. (เอเอฟพี)

ที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงอินเดีย ชาวทิเบตอย่างน้อย 3,000 คน เดินขบวนประท้วงเป็นแถวยาวเหยียดราว 3 กม. ทั้งชูธงชาติทิเบต ธงชาติอินเดีย และรูปภาพองค์ทะไล ลามะ พร้อมตะโกนคำขวัญต่างๆ เช่น “เสรีภาพของทิเบตคือความมั่นคงของอินเดีย” และ “มิตรภาพอินเดีย-จีน เป็นสิ่งหลอกลวง” ส่วนที่กรุงไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน ซึ่งจีนยืนยันว่าเป็นดินแดนของตน ก็มีชาวทิเบตและไต้หวันประท้วงหลายร้อยคน

ส่วนสื่อของทางการจีนก็ใช้โอกาสนี้โจมตีฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน โดยบทบรรณาธิการของสำนักข่าว “ซินหัว” แม้จะไม่เอ่ยถึงวาระครบรอบ 60 ปี การลุกฮือในทิเบตโดยตรง แต่ระบุว่าเหตุการณ์ในปี 2502 คือการเริ่มต้น “การปฏิรูปประชาธิปไตย” ในทิเบต นำไปสู่การล้มล้างการปกครองโดยคณะสงฆ์ชาวพุทธและระบอบศักดินา และอ้างว่าเวลาที่ผ่านมา 60 ปี สภาวะสิทธิมนุษยชนในทิเบตดีขึ้นชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

ซินหัวระบุว่าผู้ที่ตั้งคำถามเรื่องนโยบายของจีนในทิเบตนั้นมีอคติ ต่อต้านใส่ร้ายป้ายสีจีน ผู้ที่ปราศจากอคติจะต้องยอมรับความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนอย่างใหญ่หลวงในทิเบต

พร้อมทั้งยกข้อมูลตัวเลขต่างๆที่ชี้ว่าทิเบตดีขึ้น เช่นระบุว่าอายุขัยเฉลี่ยของชาวทิเบตเพิ่มขึ้นจาก 35.5 ปีในทศวรรษ 1650 เป็นเกือบ 70 ปีในปัจจุบัน ส่วน “จีดีพี” ในช่วง 25 ปีหลังก็เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก และอัตราความยากจนก็ลดลงถึง 80%

ส่วนบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ “ทิเบต เดลี” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็โจมตีองค์ทะไล ลามะว่าพยายามโปรยหว่านความโกลาหลวุ่นวายในทิเบต แผนแบ่งแยกดินแดนของเขาจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ขณะที่นายอู๋ หยิงจี้ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำทิเบต ก็ยืนยันในรัฐสภาว่า ขณะนี้ประชาชนทิเบตรู้สึกรักรัฐบาลที่จีนตั้งขึ้นมากกว่าองค์ทะไล ลามะ ผู้ไม่เคยทำสิ่งดีๆให้ทิเบตแม้แต่อย่างเดียวตั้งแต่หนีไปลี้ภัย

จะว่าไปแล้ว สภาพการณ์ที่แท้จริงในทิเบตเป็นอย่างไรยังยากที่จะสืบเสาะพิสูจน์ได้แน่ชัด เพราะชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าทิเบตต้องได้รับอนุญาตพิเศษเสียก่อน ยิ่งนักข่าวต่างชาติยากที่จะได้รับอนุญาต โดยเฉพาะในช่วงวาระครบรอบเหตุการณ์สำคัญๆที่ละเอียดอ่อน จีนจะไม่ให้คนต่างชาติเข้าสู่ทิเบตโดยสิ้นเชิง วาระครบรอบ 60 ปี การลุกฮือก่อการกบฏในทิเบตในปีนี้ก็เช่นกัน

...

รำลึก 60 ปี–ชาวทิเบตพลัดถิ่นชูธงชาติทิเบตและรูปองค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ระหว่างการเดินขบวนประท้วงที่กรุงนิวเดลีในอินเดียเมื่อ 10 มี.ค.ในวาระครบรอบ 60 ปี การเริ่มก่อการกำเริบ ลุกฮือก่อการกบฏในทิเบตเพื่อต่อต้านอำนาจจีน ใน พ.ศ.2502 แต่ล้มเหลว (เอพี)
รำลึก 60 ปี–ชาวทิเบตพลัดถิ่นชูธงชาติทิเบตและรูปองค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ระหว่างการเดินขบวนประท้วงที่กรุงนิวเดลีในอินเดียเมื่อ 10 มี.ค.ในวาระครบรอบ 60 ปี การเริ่มก่อการกำเริบ ลุกฮือก่อการกบฏในทิเบตเพื่อต่อต้านอำนาจจีน ใน พ.ศ.2502 แต่ล้มเหลว (เอพี)

...

ดังนั้น แม้ชาวทิเบตในต่างแดนและผู้สนับสนุนจะชุมนุมประท้วงหรือโจมตีจีนอย่างไร จีนมักยืนกรานปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เป็นการใส่ร้ายป้ายสีด้วยอคติ และใช้ข้อมูลหลักฐานของตนขึ้นมาคัดง้างเสมอ

โลกภายนอกจึงเห็นภาพทิเบตเป็น 2 ด้าน เปรียบเสมือนมีโลก 2 ใบในทิเบต แล้วแต่ใครได้รับข้อมูลมาอย่างไร จะเลือกมองเลือกเชื่อฝ่ายใด แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้อย่างหนึ่งก็คือ ในขณะที่อำนาจอิทธิพลของจีนในเวทีโลกทวีขึ้นเรื่อยๆ และองค์ทะไล ลามะ แก่ชรามีอายุ 83 ปีแล้ว ความหวังที่ทิเบตจะได้รับสิทธิปกครองตนเองมากขึ้นยิ่งห่างไกลออกไปทุกขณะ!

บวร โทศรีแก้ว