นักวิทยาศาสตร์ได้แนะนำให้ประชากรโลกรู้จักกับคำว่า “จีโอเอ็นจิเนียริง” (Geoengineering) มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว หลายคนมองว่านี่คือวิธีเปลี่ยนแปลงโลกครั้งใหญ่ ด้วยการฉีดพ่นสารเคมีเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อป้องกันแสงแดด ทำให้แดดสลัวลง ซึ่งจะสามารถลดอุณหภูมิโลกลงได้
แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์หลายรายที่กังวลเกี่ยวกับศักยภาพและผลข้างเคียงที่น่าหวั่นเกรงของแนวคิดจีโอเอ็นจิเนียริง เพราะหากเปรียบเทียบจีโอเอ็นจิเนียริงเป็นเหมือนกับการใช้ยารักษาความดันโลหิตสูง การใช้ยาเกินขนาดอาจเป็นอันตราย แต่หากรักษาด้วยปริมาณยาที่พอเหมาะก็จะเกิดผลดีลดความเสี่ยงลงได้
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กังวลก็นับว่ามีเหตุผล พวกเขากังขาว่าการฉีดพ่นไอละอองสารเคมีให้ลอยไปในอากาศอย่างอิสระ จะยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับสภาพภูมิอากาศ และจะยิ่งแย่ลงหากสารเคมี เหล่านั้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อปริมาณน้ำฝน ในบางพื้นที่ สร้างความไม่เท่าเทียมกันของสภาพภูมิอากาศในแต่ละภูมิภาคของโลก
ทางที่ดีควรมีการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่าเทคนิคดังกล่าวมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ทีมนักวิจัยนำโดยวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จอห์น เอ.พอลสัน ในอเมริกา จึงสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ความละเอียดสูงเพื่อจำลองสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้ารังสีจากดวงอาทิตย์จางลง โดยกำหนดให้ชั้นบรรยากาศมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2 เท่าของระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ผลลัพธ์ที่ได้จากแบบจำลองคือ จีโอเอ็นจิเนียริง ทำให้โลกเย็นลงและลดความรุนแรงของสภาพ อากาศ ทีมวิจัยเผยว่าถ้าฉีดสเปรย์ขึ้นไปในปริมาณมากเพื่อกำจัดภาวะโลกร้อน ก็จะสร้าง ผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ แต่ถ้าใช้ปริมาณที่เหมาะสมก็สามารถลดภาวะโลกร้อนลงครึ่งหนึ่ง และยังไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงด้านลบ
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่ายังมีความไม่แน่นอนหลายอย่างเกี่ยวกับการแทรกแซงธรรมชาติครั้งใหญ่นี้ แต่ยังมองว่าโดยรวมแล้วจะเกิดประโยชน์ที่สำคัญ ทว่าก็มีผู้เชี่ยวชาญก็ออกมาเตือนว่า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง โดยต้องเริ่มเลยในตอนนี้ยาวไปจนถึงปี พ.ศ.2573 ส่วนแนวคิดจีโอเอ็นจิเนียริงจะถูกนำมาใช้ได้จริงหรือไม่ คงต้องรอดูกัน.
...
ภัค เศารยะ