การประชุมประจำปี “สภาประชาชนแห่งชาติจีน” (เอ็นพีซี) ช่วงวันที่ 5-15 มี.ค.นี้ ถูกจับตามองใกล้ชิดไม่แพ้ทุกปี หลังประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่จีนกำลังเผชิญความท้าทายหลากหลาย รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวและสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา
ปีนี้ยังเป็นวาระสำคัญในประวัติศาสตร์จีนมากเป็นพิเศษ รวมทั้งเป็นวันครบรอบ 70 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนใน 1 ต.ค. วาระครบรอบ 60 ปี การเริ่มลุกฮือต่อต้านอำนาจจีนในทิเบตใน 10 มี.ค.วาระครบรอบ 30 ปี ที่รัฐบาลจีนใช้กำลังทหารกวาดล้างผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินใน 4 มิ.ย. และวาระครบรอบ 10 ปี การลุกฮือต่อต้านอำนาจจีนของชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง
สี จิ้นผิง ขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีนในปี 2555 และในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งจัดขึ้นทุก 5 ปี ในปี 2560 และการประชุมเอ็นพีซีในปีถัดมา ได้เชิดชูสี จิ้นผิง ขึ้นเป็นผู้นำที่ทรงอำนาจที่สุดนับตั้งแต่ท่านประธานเหมา เจ๋อตุง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์และสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี 2492 เป็นต้นมา
โดยนอกจากเขาถูกเชิดชูเป็นเลขาธิการพรรคและ “แม่ทัพ” เป็นสมัยที่ 2 ยังมีการแก้ไขธรรมนูญของพรรค เพิ่มอำนาจเบ็ดเสร็จให้สี จิ้นผิง อีกทั้งให้บรรจุ “แนวคิดของสี จิ้นผิง” ไว้ในธรรมนูญของพรรค มีฐานะสูงสุดเทียบเท่าท่านประธานเหมา และให้ยกเลิกการจำกัดวาระผู้นำ ขณะที่สี จิ้นผิงเองก็ไม่เผยตัว “ทายาทอำนาจ” ตามธรรมเนียมปฏิบัติ จึงคาดหมายกันว่าเขาต้องการเป็น “ผู้นำตลอดชีพ”!
...
แนวคิดริเริ่มอันทะเยอทะยานต่างๆของสี จิ้นผิง ก็ถูกบรรจุในธรรมนูญพรรคด้วย รวมทั้งอภิมหาโปรเจกต์ “เส้นทางสายไหมยุคใหม่” (วัน เบลต์ วัน โรด) มุ่งขยายอิทธิพลด้านเศรษฐกิจการค้าของจีนผ่านโครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน รถไฟ ท่าเรือ ฯลฯ ไปทั่วเอเชีย แอฟริกา ยุโรป สี จิ้นผิง ยังประกาศเป้าหมายให้จีนเป็นผู้นำโลก เป็นประเทศสังคมนิยมยุคใหม่ที่ยิ่งใหญ่ในปี 2592 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งจะสร้าง “กองทัพจีนยุคใหม่” ที่ล้ำสมัยภายในปี 2578
การประชุมเอ็นพีซีปีนี้อาจไม่มีอะไรฮือฮาเท่าปีที่แล้ว เพราะเรื่องภายใน สี จิ้นผิง สามารถสลายขั้วอำนาจฝ่ายตรงข้ามและรวบอำนาจได้แข็งแกร่ง แม้ยังมีแรงกระเพื่อมอยู่บ้าง แต่ความท้าทายกลับเป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจมากกว่า
ในวันเปิดประชุมเอ็นพีซี นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง แถลงคาดการณ์ “จีดีพี” ของจีนปีนี้จะโตแค่ 6-6.5% ลดลงจาก 6.6% ในปีที่แล้วซึ่งต่ำสุดในรอบ 30 ปี และเตือนให้เตรียมพร้อมรับความท้าทายสุดโหดหินต่างๆ เขายังประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน ขณะที่ถูกพิษสงครามการค้ากับสหรัฐฯเล่นงาน โดยจะปรับลดภาษีบริษัทห้างร้านและเงินสมทบประกันสังคมในส่วนของนายจ้างรวมเกือบ 2 ล้านล้านหยวน ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในภาคคมนาคมขนส่งและก่อสร้างจาก 10% เหลือ 9% ลดแวตของโรงงานผู้ผลิตจาก 16% เหลือ 13%
ส่วนงบฯกลาโหมปีนี้ จะเพิ่มขึ้น 7.5% น้อยกว่าปีที่แล้วที่เพิ่มขึ้น 8.1% แม้จีนเร่งพัฒนาศักยภาพกองทัพขณะเผชิญข้อพิพาทในทะเลจีนใต้และอื่นๆ จีนยังจะให้บริษัทต่างชาติเข้าถึงตลาดจีนมากขึ้น โดยคาดว่าในวันปิดประชุมเอ็นพีซีจะผ่านกฎหมายใหม่ด้านการลงทุนของต่างชาติ ให้มีความยุติธรรมมากขึ้น
ก่อนการประชุมแค่ 2 วัน หนังสือพิมพ์ “วอลล์ สตรีท เจอร์นัล” ยังรายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า ทีมเจรจาของสหรัฐฯ และจีนใกล้บรรลุข้อตกลงการค้าฉบับสำคัญ หลังเจรจากันสุดเข้มข้นมากว่า 8 เดือน โดยคาดว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กับสี จิ้นผิง อาจสรุปข้อตกลงนี้ระหว่างการประชุมสุดยอดที่รีสอร์ต “มาร์-อะ-ลาโก” ในรัฐฟลอริดา ใน 27 มี.ค.นี้
สาระในข้อตกลงรวมทั้งจีนจะลดภาษีและซื้อสินค้าภาคเกษตรกรรม เคมี พลังงาน อุตสาหกรรมรถยนต์ และอื่นๆของสหรัฐฯมากขึ้นรวมทั้งซื้อก๊าซธรรมชาติจากบริษัทเชเนียร์ เอนเนอร์ยี ของสหรัฐฯ มูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์ด้วย นอกจากนี้ จีนจะปรับโครงสร้างนโยบายเศรษฐกิจการค้า รวมถึงปกป้องทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น จะผ่อนคลายหรือยุติข้อบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยีของบริษัทต่างชาติให้หุ้นส่วนชาวจีน และลดการอุดหนุนจากรัฐบาลให้ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเรื่องเหล่านี้สหรัฐฯใช้เป็นข้ออ้างในการเปิดสงครามการค้ากับจีน อันเป็นส่วนหนึ่งในแผนลดการขาดดุลการค้าต่อต่างชาติจำนวนมหาศาล
...
ถ้าข่าวนี้เป็นจริง เชื่อว่าจีนยอมถอยก้าวใหญ่เพื่อหวังยุติสงครามการค้า หลังสหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้าจีนแล้วถึง 250,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนจีนขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯตอบโต้มูลค่า 110,000 ล้านดอลลาร์ และทรัมป์เพิ่งสั่งเลื่อนการขึ้นภาษีสินค้าจีนรอบใหม่มูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ใน 1 มี.ค.ออกไปก่อนเพราะการเจรจาคืบหน้า
สี จิ้นผิงเห็นว่าสงครามการค้าจะกระทบเศรษฐกิจจีนรุนแรง แต่จะบรรลุข้อตกลงเป็นทางการกันได้หรือไม่ยังไม่แน่ เพราะยังมีอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งกรณีสหรัฐฯต้องการตั้งกลไกควบคุมไม่ให้จีน “เบี้ยว” ข้อตกลงภายหลัง ขณะที่มีแรงต่อต้านจากภายในทั้ง 2 ประเทศซึ่งเห็นว่าแต่ละฝ่ายยอมอ่อนข้อมากเกินไป
จีนยอมถอยก้าวใหญ่แล้ว แต่สหรัฐฯจะ “ได้ทีขี่แพะไล่” หรือ “ได้คืบจะเอาศอก” เรียกร้องมากขึ้นจนจีนยอมรับไม่ไหวหรือไม่ ต้องลุ้นกันถึงวินาทีสุดท้าย!
บวร โทศรีแก้ว