สิงคโปร์ติดอันดับหนึ่งรายงานอันดับเมืองน่าอยู่ที่สุดสำหรับคนต่างด้าว (Expats) ชาวเอเชีย เป็นปีที่ 14 ติดต่อกัน

เรื่องนี้ไม่ได้โม้! เป็นผลสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ “อีซีเอ อินเตอร์แนชนัล” ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2514 สำนักงานอยู่ทั้งในกรุงลอนดอน (อังกฤษ) มหานครนิวยอร์ก (สหรัฐฯ) นครซิดนีย์ (ออสเตรเลีย) และฮ่องกง เขตปกครองพิเศษของจีน เผยแพร่เมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. ยืนยันความเป็นหนึ่งของเมืองลอดช่องที่แต่ละปีมีชื่อติดอันดับต้นๆในรายงานอันดับด้านต่างๆมาโดยตลอดเช่นเดียวกับรายงานอันดับคอร์รัปชันโลก “ดัชนีซีพีไอ 2018” ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ทีไอ) ในเยอรมนี สิงคโปร์ก็ติดอันดับ 3 คอร์รัปชันต่ำสุด

“มีปัจจัยหลายอย่างทำให้สิงคโปร์เป็นสถานที่ในอุดมคติของคนต่างด้าวที่นิยมชมชอบและอยากเข้าไปอยู่ทำมาหากินอยู่นานๆ เช่น การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ระบบโครงสร้างพื้นฐานดี สถิติเกิดคดีอาชญากรรมต่ำ ระบบรักษาสุขภาพมีคุณภาพเช่นเดียวกับระบบการศึกษา และระดับมลพิษทางอากาศต่ำกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค” ลี ฉวน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของอีซีเอ อินเตอร์แนชนัล บอก

ปักกิ่ง
ปักกิ่ง

...

อีกปัจจัยที่สำคัญ ผอ.ภูมิภาคเอเชียของอีซีเอฯ กล่าวว่า (เพราะ) มีประชากรชาวเอ็กซ์แพตกลุ่มใหญ่ อาศัยอยู่ทำมาหากินในสิงคโปร์อยู่แล้ว และว่า แม้หลายเมืองใหญ่ในเอเชียมอบเสนอผลประโยชน์คล้ายกันให้กับกลุ่มคนงานต่างด้าว แต่สิงคโปร์ยังเป็นเบอร์หนึ่งและไม่น่าจะถูกลดอันดับในชั่วเวลาอันใกล้แน่นอน

ส่วน ฮ่องกง เขตปกครองพิเศษของจีน เมืองคู่แข่งของสิงคโปร์ในการจัดทำรายงานหลายเรื่อง มาปีนี้อันดับร่วงลงไปถึง 12 อันดับ ไปอยู่ลำดับที่ 41 หลังเพิ่งเจอฤทธิ์ของไต้ฝุ่นมังคุด พัดถล่มเมื่อเดือน ก.ย.ปี 2561 แม้จะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ไต้ฝุ่นมังคุดสร้างความเสียหายให้อาคาร บ้านเรือน สำนักงาน และระบบโครงสร้างพื้นฐาน คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 32,000 ล้านบาท

มลพิษทางอากาศยังเป็นอีกปัจจัยทำให้ฮ่องกงอันดับร่วงลงมากในปีนี้

ไม่ใช่เล่นๆ ปัญหามลพิษทางอากาศทำให้ฮ่องกงอันดับร่วงไปอยู่ที่ 29 ในปี พ.ศ.2560 และอันดับ 28 ในปี พ.ศ.2559 และเป็นผลให้อันดับร่วงลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เคยอยู่อันดับดีที่สุดคือลำดับที่ 11 เมื่อปี พ.ศ.2556

สถานการณ์ของฮ่องกงตรง กันข้ามกับหลายเมืองสำคัญในจีนแผ่นดินใหญ่ เช่น กรุงปักกิ่ง นาน-จิง และ เซียะเหมิน ล้วนก้าวขึ้นมาอยู่อันดับดีขึ้น เพราะมีการเร่งพัฒนาและยกระดับระบบโครงสร้างพื้นฐาน

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเมืองใหญ่ๆของจีนที่อันดับดีเหล่านี้ ยังมีปัญหามลพิษทางอากาศอยู่ระดับเกินค่ามาตรฐาน และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้คนเป็นข่าวอยู่ทุกปี กรณีนี้รายงานของอีซีเอระบุว่า การที่เจ้าหน้าที่จีนเข็นมาตรการออกมาแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปี ปัจจุบันจึงเป็นผลให้อันดับดีขึ้นตาม

เรียกว่าเชื่อมั่นในมาตรการของเจ้าหน้าที่ ส่วนผลลัพธ์การแก้ปัญหาว่าแก้ได้ไม่ได้เป็นอีกเรื่อง

ฮ่องกง
ฮ่องกง

ในส่วนของ มาเลเซีย และ ไทย มีอันดับดีขึ้นเหมือนกัน แต่ไม่ถึงกับดีเยี่ยมหรือติดอันดับต้นๆ กรุงเทพฯ คือเมืองติดอันดับดีที่สุดของไทย อยู่ที่ 89 ส่วนเมือง จอร์จ ทาวน์ และ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซีย อยู่อันดับ 97 และ 98 ตามลำดับ

นอกภูมิภาคเอเชีย หลายเมืองใหญ่ใน ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ นำเสนอคุณภาพการดำรงชีพที่ดีที่สุดให้คนงานชาวเอเชีย จึงมีเมือง บริสเบน และ ซิดนีย์ ของออสเตรเลีย ติดอันดับ 2 ร่วมในรายงานจัดอันดับของอีซีเอ

อีซีเอ อินเตอร์แนชนัล จะจัดทำและเผยแพร่รายงานอันดับในหลายด้าน รวมทั้งด้านนี้ทุกปี เป็นการวัดคุณภาพการดำรงชีพของคนต่างด้าวที่เข้าไปทำมาหากินในเมืองต่างๆกว่า 480 แห่งทั่วโลก ใช้เกณฑ์วัดหลายอย่างรวมทั้ง สภาพอากาศ การเข้าถึงระบบรักษาสุขภาพ ปัญหาการเมือง และ คุณภาพอากาศ

เป็นที่น่าสังเกตว่าหลายเมืองที่ขยับอันดับดีขึ้นเช่นกรุงปักกิ่งของจีน ไม่ใช่ว่าปัญหามลพิษไม่มี แต่เป็นเพราะการประกาศมาตรการแก้ไขจริงจังของเจ้าหน้าที่ส่วนกลางและรัฐบาลท้องถิ่น เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นล้วนๆ

...

กรุงเทพฯ
กรุงเทพฯ

กรณีของสิงคโปร์ก็เหมือนกัน มีชื่อติดอันดับทั้งเป็นแชมป์และอยู่อันดับต้นๆของรายงานอันดับด้านบวกเกือบทั้งหมด เชื่อว่าปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งก็คือความมุ่งมั่นและจริงจังของภาครัฐ กำหนดเป้าหมายพัฒนาชัดเจนและดำเนินตามแผนพัฒนาหนึ่งสองสามจนครบถ้วนสำเร็จเป็นดอกเป็นผล ผู้คนจึงเกิดความเชื่อมั่นในแนวทางพัฒนาที่ชัดเจนของรัฐบาลที่แม้ด้านหนึ่งจะถูกวิจารณ์ว่ารวบอำนาจ ไม่มีที่ให้ฝ่ายค้านยืน

แต่ก็นั่นแหละ ผลงานมันคือคำตอบอยู่แล้ว.

@ฒ.คอกาแฟ