ในปี 2561 นับเป็นอีกปีที่วงการพัฒนาหุ่นยนต์มีความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการประดิษฐ์ออกแบบหุ่นยนต์รุ่นใหม่ๆ หรือปรับปรุงประสิทธิภาพ อุดจุดบกพร่องและเสริมจุดแข็ง เพื่อให้ตอบสนองการใช้งานอย่างชาญฉลาด ซึ่งวารสารด้านวิทยาศาสตร์หุ่นยนต์ (Science Robotics) ได้รวบรวมบรรดาหุ่นยนต์ที่ถือเป็นนวัตกรรมสุดโดดเด่นของปีที่ผ่านมา ที่มีอย่างหลากหลาย
บริษัทบอสตัน ไดนามิคส์ ผู้สร้างหุ่นยนต์แอตลาส (Atlas) มาหลายปีก็ได้ปรับปรุงระบบใหม่ ที่ช่วยให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่เอาชนะสิ่งกีดขวางได้ดีกว่าเดิม แถมยังตีลังกากลับหลังได้อย่างน่าทึ่ง ส่วนวงการแพทย์ก็ต้องตื่นตะลึงกับหุ่นยนต์ผ่าตัดแขนกลชื่อวินซี (Vinci) ที่หมุนได้ 7 ทิศทาง ถัดมาคือหุ่นยนต์นิ่ม (soft robot) ที่เชื่อว่าจะรับมือกับความท้าทายในการทำงานร่วมกับมนุษย์ โดยขึ้นอยู่กับการเติบโตของสิ่งมีชีวิต เช่น เซลล์ประสาทหรือเชื้อรา หรือการสร้างวัสดุโปร่งใสเลียนแบบกล้ามเนื้อ ที่เยียวยาตัวเองได้หรือรู้สึกได้ถึงวัตถุที่ง่ายต่อการควบคุม
ที่เด่นๆ อีกชนิดคือหุ่นยนต์ระดับนาโนที่ใช้สารพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งเป็นแหล่งเก็บข้อมูลทางพันธุกรรม มาผสานกับแนวคิดการพับกระดาษโอริกามิของญี่ปุ่นที่จะช่วยขนส่งอนุภาคนาโนได้ หรือหุ่น ยนต์เดลฟลาย นิมเบิล (Delfly Nimble) ที่บินได้และเบาเพียง 28 กรัม แต่ที่น่าจะทำการตลาดได้ดีคือหุ่นยนต์สวมใส่เหมือนเสื้อผ้าที่จะช่วยลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และสุดท้ายคือหุ่นยนต์สุนัขตัวน้อยไอโบ (Aibo) ของบริษัทโซนี่ ที่ถูกพัฒนามานานจนสามารถตอบสนองต่อมนุษย์ได้ดีกว่าในอดีต.