เนบิวลานายพราน (Orion Nebula) ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวนายพราน เป็นที่แห่งหนึ่งในท้องฟ้ายามค่ำคืนที่นักนิยมดูดาวให้ความสนใจบันทึกถ่ายภาพ เพราะมองเห็นความสวยงามของเนบิวลานี้ได้ด้วยตาเปล่า นักดาราศาสตร์เผยว่า เนบิวลานายพรานเปรียบเสมือนสถานรับเลี้ยงทารกดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกของเรามากที่สุด และช่วยให้นักดาราศาสตร์สำรวจว่าดวงดาวก่อตัวขึ้นได้อย่างไร
การจะเจาะความลับภายในเนบิวลานายพรานไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าโชคดีโลกเรามีตัวช่วยอันทรงพลังนั่นคือกล้องโทรทรรศน์ตรวจจับรังสีอินฟราเรดโซเฟีย (Stratospheric Observatory for Infrared Astronomy) ที่ติดตั้งไว้บนเครื่องบินโบอิ้ง 747 ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถทะลุผ่านม่านก๊าซ ฝุ่นเมฆของเนบิวลานายพรานได้ ทำให้เปิดเผยกระบวนการก่อตัวดาวฤกษ์จำนวนมากที่อาจซ่อนอยู่ในเนบิวลาแห่งนี้
ทีมวิจัยนานาชาตินำโดยมหาวิทยาลัยโคโลญ ในเยอรมนี และมหาวิทยาลัยไลเดน ในเนเธอร์แลนด์ วิเคราะห์ข้อมูลจากเครื่องมือ GREAT บนกล้องโทรทรรศน์โซเฟีย พบว่าดาวฤกษ์แรกเกิดในเนบิวลานายพราน จะสร้างลมดาวฤกษ์ (stellar wind) ที่จะพัดพาเอาเมล็ดพันธุ์ดวงดาวที่จะก่อเกิดเป็นดาวดวงใหม่ออกไป เรียกว่าเป็นการป้องกันไม่ให้มีดาวดวงใหม่ก่อตัวขึ้นในบริเวณใกล้เคียงนั่นเอง ทั้งนี้ มีความเชื่อมานานว่ากระบวนการอื่นๆ เช่น ซุปเปอร์โนวาจะทำหน้าที่ควบคุมการก่อตัวของดาว ผลการศึกษาครั้งใหม่นี้จึงสร้างความแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง.
Credit : NASA/SOFIA/Pabst et al.