เมื่อ 20 ธ.ค.2561 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะถอนทหารสหรัฐฯทั้งหมดราว 2,000 นายออกจากซีเรีย โดยอ้างว่าสามารถปราบกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้แล้ว
เรื่องนี้ถูกต่อต้านอย่างหนักจากทั้งภายนอกภายใน รวมทั้งชาติพันธมิตร แม้แต่นายเจมส์ แมททิส รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ก็ลาออก เพราะเห็นว่ากลุ่มไอเอสยังไม่สิ้นซาก อีกทั้งการถอนทหารสหรัฐฯยังเป็นการทอดทิ้งพันธมิตรชาว “เคิร์ด” ที่ร่วมรบขับไล่ไอเอสให้ตกอยู่ในอันตรายจากการรุกโจมตีจาก “ตุรกี”
ปัจจุบันกองกำลังชาวเคิร์ดควบคุมภูมิภาคที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำมันทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย มีพื้นที่ราว 1 ใน 3 ของซีเรียทั้งประเทศ
ชาวเคิร์ดรวมตัวกันอยู่ที่ภาคเหนือซีเรียมายาวนาน มีประชากรราว 15% ของประชากรซีเรียทั้งประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ แต่มีชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่มุสลิมรวมอยู่ด้วย ชาวเคิร์ดถูกเลือกปฏิบัติและถูกกดขี่จากพรรคบาธ พรรครัฐบาลซีเรียมาหลายสิบปี และพวกเขาต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมืองและวัฒนธรรมมาตลอด
...
เมื่อสงครามกลางเมืองซีเรียปะทุขึ้นในปี 2554 ชาวเคิร์ดพยายามแสดงจุดยืนวางตัวเป็นกลาง ขณะที่ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย แสดงไมตรีจิตเพื่อดึงชาวเคิร์ดมาเป็นพวกในช่วงเริ่มสงคราม ด้วยการให้สัญชาติซีเรียแก่ชาวเคิร์ดราว 300,000 คน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวเคิร์ดเรียกร้องมาเกือบ 50 ปี หลังถูกริบสัญชาติในการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2505
ปี 2555 ปีที่ 2 ของสงครามกลางเมือง กองทัพรัฐบาลซีเรียถอนตัวจากพื้นที่ของชาวเคิร์ดทางภาคเหนือและตะวันออก เปิดโอกาสให้ชาวเคิร์ดควบคุมพื้นที่ได้เข้มแข็งขึ้น จากนั้นชาวเคิร์ดก็ตั้งเขตปกครองตนเองขึ้นหลายเขต และพยายามป้องกันไม่ให้ทั้งกองกำลังรัฐบาลซีเรียและกบฏซีเรียเข้าไปในพื้นที่ของตน
ปี 2556 พรรคสหภาพประชาธิปไตย (พีวายดี) ปีกทางการเมืองของ “หน่วยพิทักษ์ประชาชน” (วายพีจี) กองกำลังอันทรงอิทธิพลของชาวเคิร์ด ประกาศตั้งภูมิภาคกึ่งปกครองตนเองขึ้น ต่อมาในปี 2559 ผู้นำชาวเคิร์ดได้เปิดเผยแผนก่อตั้ง “ภูมิภาคสหพันธรัฐ” ขึ้นในดินแดนของตน ซึ่งประกอบด้วย 3 เขตการปกครอง คือ เขตอาฟรินใน จ.อเลปโป เขตจาซิราใน จ.ฮาซาเคห์ และเขตยูเฟรตีส ซึ่งรวมทั้งดินแดนบางส่วนของ จ.อเลปโปและ จ.รักกา
แผนนี้เปรียบเสมือนการประกาศเขตปกครองตนเอง ทำให้ถูกต่อต้านอย่างหนักจากทั้งกองทัพซีเรียและ “ตุรกี” ชาติเพื่อนบ้าน ซึ่งเห็นว่าชาวเคิร์ดเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน และเมื่อสิ้นปี 2559 ชาวเคิร์ดยังออก “สัญญาประชาคม” ซึ่งเปรียบเสมือน “รัฐธรรมนูญ” ของภูมิภาคสหพันธรัฐชาวเคิร์ด ในปีต่อมาชาวเคิร์ดยังจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลของตนเองด้วย
นักรบชาวเคิร์ดเป็นหนึ่งในกองกำลังที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการต่อสู้กับกลุ่มไอเอสในซีเรีย โดยได้รับการสนับสนุนจากการโจมตีทางอากาศของกองกำลังพันธมิตรตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกา จนเมื่อต้นปี 2558 สามารถขับไล่กลุ่มไอเอสออกจากเมืองโคบาเน ริมชายแดนตุรกีได้สำเร็จ หลังการสู้รบดุเดือดกว่า 4 เดือน
...
ต่อมาในเดือน ต.ค.2558 มีการก่อตั้ง “กองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย” (เอสดีเอฟ) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างนักรบชาวเคิร์ดกับชาวอาหรับท้องถิ่น โดยเอสดีเอฟมีกองกำลัง “วายพีจี” เป็นแกนนำ และเป็นกองกำลังภาคพื้นดินหลักในการต่อสู้ขับไล่ไอเอสและนักรบญีฮัดใน “รัฐอิสลาม” (คอลีฟะห์) ทางภาคตะวันออกของซีเรีย
เอสดีเอฟกล้าแข็งมาก สามารถขับไล่ไอเอสออกจากเมืองรักกา เมืองหลวงของไอเอสได้ในเดือน ต.ค.2560 เอสดีเอฟยิ่งเข้มแข็งขึ้น เมื่อกองกำลังพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือน ม.ค.2561 ว่า จะตั้งกองกำลังชายแดนขึ้นทางภาคเหนือซีเรีย ประกอบด้วย นักรบชาวเคิร์ดและอาหรับ 30,000 นาย โดยราวครึ่งหนึ่งจะเป็นนักรบจากเอสดีเอฟที่ถูกนำมาฝึกอบรมใหม่
การเติบโตเข้มแข็งของกองกำลังชาวเคิร์ดถูกจับตามองเขม็งจากรัฐบาล “ตุรกี” ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเรเซป ทายยิป แอร์โดอัน ซึ่งกล่าวหาว่ากองกำลัง “วายพีจี” เป็นสาขาของ “พรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน” (พีเคเค) ซึ่งพยายามก่อกบฏแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีมายาวนานกว่า 30 ปี
ดังนั้น เมื่อ 20 ม.ค.2561 กองทัพตุรกีจึงเริ่มบุกโจมตีเมืองอาฟริน ฐานที่มั่นของวายพีจีอย่างหนัก ทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน จนสามารถยึดเมืองอาฟรินได้เมื่อ 18 มี.ค.ปีเดียวกัน
หลังทรัมป์ประกาศถอนทหารจากซีเรีย แอร์โดอัน “ได้ทีขี่แพะไล่” สั่งระดมทหารไปเพิ่มริมชายแดนจำนวนมาก รอจังหวะโจมตีวายพีจีครั้งใหญ่ทันทีที่ทหารอเมริกันถอนตัว ขณะที่ชาวเคิร์ดร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลซีเรีย ทำให้ซีเรียส่งทหารเข้าสู่เมืองมานบิจทางภาคเหนือ ห่างชายแดนตุรกี 30 กม.เพื่อปกป้องชาวเคิร์ด
ทรัมป์ผู้ชูนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ถูกโจมตีว่า “ทิ้งเพื่อน” ชาวเคิร์ด ที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ขับไล่ไอเอส คาดว่าสาเหตุหนึ่งคือทรัมป์หวังขายอาวุธให้ตุรกี ซึ่งเรื่องนี้กระทบต่อแผนตั้งเขตปกครองตนเองของชาวเคิร์ดอย่างรุนแรง!
...
บวร โทศรีแก้ว