ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า มีผู้ป่วยมากกว่า 2 ล้านรายต่อปีที่ติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศไปกว่า 23,000 รายในแต่ละปี ส่วนผลการสำรวจในปี พ.ศ.2561 จากหน่วยงานของยุโรปที่เทียบเท่ากับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ เผยว่า เฉพาะปี พ.ศ.2558 การติดเชื้อดื้อยามีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วยุโรปราว 33,000 ราย

ล่าสุด ทีมนักเคมีจากมหาวิทยาลัยโคโลราโดโบลเดอร์ ในสหรัฐอเมริกา ได้จุดประกายความหวังการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในอนาคต หลังจากพยายามพัฒนาวิธีใหม่ในการสังเคราะห์และเพิ่มประสิทธิภาพของสารประกอบยาปฏิชีวนะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างสารไตรโอเปปไทด์ (thiopeptides) โดยกลับไปใช้ข้อมูลพื้นฐานและตรวจสอบสมมติฐานก่อนหน้าเกี่ยวกับคุณสมบัติทางเคมีพื้นฐานของโมเลกุลในสารดังกล่าว ในที่สุดก็ส่งผลทำให้เกิดยาปฏิชีวนะตัวใหม่ 2 ชนิดคือ micrococcin P1 และ thiocillin I เป็นสารประกอบมีประสิทธิภาพปรับขนาดได้รวมถึงไม่ก่อให้เกิดสารที่เป็นอันตราย

การดื้อยาหลายขนานกำลังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขระดับโลกและจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทีมวิจัยเผยว่า วิธีการสังเคราะห์สารเคมีใหม่นี้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นแต่ก็เป็นผลลัพธ์ที่เกินความคาดหมาย ยังต้องทำการทดลองทางคลินิกให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนที่จะได้รับอนุมัติให้ใช้งานกับมนุษย์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะนำมาต่อสู้กับการติดเชื้อที่ดื้อยา เช่น เชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า MRSA.