1.
จีนรุ่งเรืองเป็นหนึ่งในชนชาติที่มีอารยธรรมยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ทัศนคติของคนจีนในยุคต้นราชวงศ์ชิงมองพวกฝรั่งมังค่าเป็นคนป่าที่ยังไม่เจริญ นโยบายการค้าในสมัยนั้นจึงเลือกใช้นโยบายปิด ไม่ค้าขายกับต่างประเทศ กระทั่ง ค.ศ.1757 เป็นต้นมา จีนกำหนดให้เฉพาะกว่างโจวเป็นเมืองท่าแห่งเดียวที่อนุญาตให้ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศได้ ตะวันตกที่เดินทางมาจีนมากที่สุดคืออังกฤษ ซึ่งเข้ามาซื้อชาและไหมดิบจากจีนเป็นจำนวนมาก แต่นำสิ่งทอและฝ้ายเข้ามาขายที่จีนได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น อังกฤษจึงแก้ปัญหาขาดดุลการค้ากับจีนด้วยการส่งฝิ่นเข้ามาขาย
2.
การค้าฝิ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ดุลการค้าระหว่างจีนกับอังกฤษพลิก จีนถึงกับต้องใช้เงินแท่งซื้อฝิ่น ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก เกิดปัญหาค่าเงินตกต่ำ การคลังขาดสภาพคล่อง ประชาชนจำนวนไม่น้อยถูกฝิ่นทำลายสุขภาพอย่างรุนแรง จีนจึงปราบฝิ่น อังกฤษจึงส่งกองทัพเรือมาจีน ราชสำนักชิงตกใจถึงขนาดยอมลงนามในสนธิสัญญาชวนปี๋ ยอมยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษ เปิดเมืองกว่างโจว
ชดใช้ค่าฝิ่น แต่กระนั้น
อังกฤษก็ยังทำสงครามฝิ่น ราชวงศ์ชิงจึงต้องยอมจำนนและทำสนธิสัญญานานกิง
3.
ข้อใหญ่ใจความในสนธิสัญญานานกิง ค.ศ.1842 ให้จีนชดใช้ค่าฝิ่นและจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้อังกฤษเป็นจำนวน 21 ล้านเหรียญเงิน ยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษ เปิด 5 เมืองหลักให้เป็นเมืองท่าค้าขาย ปีถัดมา จีนต้องลงนามในข้อตกลง ระเบียบว่าด้วยการเปิดเมืองท่า 5 เมืองเพื่อการค้ากับอังกฤษ และสนธิสัญญาหู่เหมิน ให้อังกฤษมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต
4.
เมื่ออังกฤษง้างจีนได้ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ก็มุ่งหน้าเข้ามายังจีน ฉกฉวยสิทธิและผลประโยชน์ จีนต้องลงนามในสัญญาที่เสียเปรียบกับตะวันตกจำนวนมาก เช่น สนธิสัญญาหวั่งซย่าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ สนธิสัญญาหวงผู่ระหว่างจีนกับฝรั่งเศส จีนสูญเสียอำนาจอธิปไตยด้านการค้า เรื่องราวต่างๆในสมัยนั้นถูกนำมาสอนให้กับเยาวชนคนจีนเพื่อให้เกิดแรงผลักดันในการสู้กับตะวันตก
...
5.
1 ตุลาคม ค.ศ.1949 มีการจัดพิธีเฉลิมฉลองสถาปนาประเทศใหม่ชื่อ สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้นำรัฐบาลประกาศตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จีนสถาปนาความสัมพันธ์กับนานาอารยประเทศ และเปิดศักราชใหม่แห่งการสร้างประเทศ
6.
จีนพัฒนาตัวเองจากประเทศที่ถูกกระทำย่ำยีจนกลายเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ที่สำคัญจีนเป็นประเทศที่ครอบครองนวัตกรรมที่ใช้ในการผลิตและการบริการอยู่ในอันดับต้นของโลก ทำให้ตะวันตกที่เคยเอาเปรียบจีนมานานหลายทศวรรษเริ่มระแวง และเมื่อมีเหตุการณ์หลายอย่างยืนยันชัดเจนว่าจีนเดินขึ้นสู่ประเทศเบอร์ต้นของโลกในทุกเรื่องได้ค่อนข้างแน่ ประเทศตะวันตกหลายแห่งก็เริ่มมีนโยบายเตะตัดขาจีน
7.
ความรู้สึกของชาวตะวันตกบางคนรับไม่ได้กับภาพที่อาซิ้ม อาม่า นักท่องเที่ยวชาวจีนนั่งให้สาวผมบลอนด์ล้างเท้าเพื่อจะเตรียมนวดที่ร้านนวดแห่งหนึ่งในออสเตรเลีย จนมีการแชร์ภาพดังกล่าวหลายหมื่นครั้ง พร้อมทั้งคำวิจารณ์กันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน
8.
กระแสต่อต้านคนจีนเริ่มเกิดขึ้นในตะวันตกหลายประเทศ แม้แต่การโดยสารรถสาธารณะก็มีการด่าทอด้วยคำพูดหยาบคายใส่บุคคลที่หน้าตาคล้ายคนจีน บางแห่งมีการลงมือทำร้าย การไม่เคารพสิทธิความเป็นมนุษย์เริ่มมีมากขึ้นในหมู่คนผิวขาวที่กระทำต่อคนเอเชียเชื้อสายจีน
9.
แนวโน้มการเหยียดผิวที่เคยเป็นสิ่งน่ารังเกียจ ปัจจุบันเริ่มกลับมาอีก แม้แต่ผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังมีรายงานว่าใช้คำหยาบคายดูถูกประเทศในทวีปแอฟริกาว่าเป็นแหล่งรวมปฏิกูล ถึงขนาดโฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติออกมาประณามว่าสิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์พูดนั้นเป็นสิ่งที่น่าตกใจ น่าละอาย และเหยียดผิว
10.
กระแสการเหยียดเชื้อชาติทำให้คนเอเชียและแอฟริกาแชร์ประสบการณ์ที่เคยโดนเหยียดเชื้อชาติผ่านโซเชียลมีเดีย เริ่มมีสมาคมนักเรียนนักศึกษาที่มาจากทวีปเอเชียและแอฟริกาทำแคมเปญรณรงค์ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ รูปร่างหน้าตา ความสามารถในมหาวิทยาลัยและในการทำงาน
11.
การเติบโตและความสามารถด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจของเอเชียและแอฟริกา ทำให้กระแสการเหยียดเชื้อชาติจะยิ่งแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนชาติจีน ความรู้ความเข้าใจในเรื่องสังคมหลากหลายวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมากขึ้น แต่นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยก็มีความเห็นตรงกันว่า คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากเพราะเรื่องที่อยู่ใต้สมองของประธานาธิบดีบางคนจากโลกตะวันตกคือการกีดกันจีนอย่างยิ่งยวดในทุกด้าน และจะไม่ยอมให้จีนขึ้นมายืนแถวหน้าของโลกอย่างทัดเทียมกับพวกตน
12.
ค.ศ.2019 จะเป็นปีที่โลกไม่สงบนัก แต่ไม่ใช่ไม่สงบจากการก่อการร้ายเหมือนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทว่า จะเป็นความไม่สงบที่เกิดจากการพยายามรักษาสถานะเจ้าโลก รวมทั้งเผ่าพันธุ์ที่เชื่อว่าตนเองเป็นชนชั้นนำของโลก.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย