นอกจากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งย่อมาจาก Artificial Intelligence จะถูกนำมาใช้ในวงการต่างๆ โดยเฉพาะวงการที่มีข้อมูลจำนวนมากซึ่งปัญญาประดิษฐ์สามารถทำความเข้าใจได้รวดเร็วแล้ว ล่าสุด AI กำลังถูกนำเข้ามาใช้ในเรื่องใกล้ตัว อย่างเรื่องของสุขภาพ และการแพทย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Digital Ventures บล็อกที่ว่าด้วยเรื่องของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการแพทย์เล่าถึงการเข้ามาของ AI ในทางการแพทย์ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี AI ถูกนำมาใช้ในกลุ่มเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาเพื่อดูแลสุขภาพแบบครบวงจร ที่เรียกว่า HealthTech อย่างแพร่หลาย ทั้งนวัตกรรมการตรวจสุขภาพ การรักษา และการเงินที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ
HealthTech Startup แวดวงธุรกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน แต่มีเงินลงทุนสูงถึงปีละหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ และกำลังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
การพัฒนาการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ได้ทำให้ปริมาณข้อมูลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นๆ ไม่ว่าจะจากการวิจัย ค้นคว้าและการเก็บหลักฐาน ซึ่งเมื่อ HealthTech ก็ได้รับการพัฒนามากขึ้น ข้อมูลทางการแพทย์ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชนิดก้าวกระโดด รวมถึงการเก็บข้อมูลที่ละเอียดระดับ DNA
...
มีการประเมินว่าภายในปี 2020 ข้อมูลทางการแพทย์ทั่วโลกจะมีปริมาณถึง 2,314 ล้าน เทราไบต์ (Terabyte)
ประโยชน์ของ AI ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลมหาศาลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตัดสินใจนำเสนอผลลัพธ์จากข้อมูลที่มีอยู่ ที่สามารถเพิ่มเติมและปรับปรุงข้อมูลในระบบเพื่อการรักษาอย่างแม่นยำ ล่าสุด มีแนวคิดที่จะนำข้อมูลจากการค้นคว้า กรณีศึกษา และการรักษาโรคต่างๆที่มีอยู่ทั่วโลกมาให้ AI เรียนรู้และนำเสนอผลการวิเคราะห์โรค ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำเท่านั้น แต่ยังใช้เวลาน้อยกว่า ลดค่าใช้จ่าย และตอบโจทย์ในพื้นที่ห่างไกลด้วย
ตัวอย่างของการพัฒนา HealthTech โดยใช้ AI ล่าสุด Google บริษัทไอทีรายใหญ่ของโลก คิดค้นวิธีรายงานผลเกี่ยวกับโรคหัวใจได้ด้วยการสแกนดวงตา ซึ่งได้ผลการตรวจที่ละเอียดทั้งความดันเลือด อายุ หรือแม้แต่พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ทำให้สามารถรายงานผลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจได้เกือบครบถ้วนโดยไม่ต้องเจาะเลือด ช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายการตรวจได้ชัดเจน นอกจากนี้ Google ยังออกแบบ AI ตรวจโรคขนาดพกพาสำหรับพื้นที่ห่างไกล ผ่านเทคโนโลยี Cloud
SigTuple ธุรกิจ Startup จากอินเดีย ออกแบบเครื่องมือตรวจโรคขนาดกะทัดรัดที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไปยัง AI โดยแพทย์แค่นำเลือด หรือสารคัดหลั่งในร่างกายผู้ป่วยเข้าเครื่องตรวจ เครื่องจะจับรายละเอียดภายในของสารนั้นๆ แล้วส่งข้อมูลให้ AI วิเคราะห์ เมื่อ AI วิเคราะห์เสร็จก็จะส่งผลกลับมายังแพทย์ โดยหากตรวจพบว่าต้องใช้เครื่องมือรักษามาก AI ก็จะดำเนินการแจ้งโรงพยาบาลใหญ่ให้มารับผู้ป่วย พร้อมส่งผลการวินิจฉัยเบื้องต้นให้โดยทันที ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาแค่ประมาณ 5 นาทีเท่านั้น
...
นอกจากการวินิจฉัยโรคที่ซับซ้อนหรืออาการป่วยฉุกเฉินแล้ว AI ยังมีบทบาทในการดูแลมนุษย์ในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันมี Startup หลายรายพัฒนา Chatbot ที่คอยตอบคำถามเพื่อวินิจฉัยโรคในเบื้องต้น เช่น Babylon Health จากประเทศอังกฤษ และ Ada Health จากประเทศเยอรมนี ได้สร้าง Platform วินิจฉัยโรคเบื้องต้นด้วย AI ผสานกับ Teleme– dicine ที่ผู้ใช้สามารถจะได้รับคำสอบถามอาการเบื้องต้น จากนั้น AI ก็จะวิเคราะห์ว่าควรพบแพทย์หรือไม่ หากต้องพบก็สามารถ Video Call หาแพทย์ได้ทันที
ในการประชุม World Economic Forum เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีการพูดถึงความสามารถของเทคโนโลยี AI ที่น่าทึ่งในทางการแพทย์ว่า AI สามารถวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังได้แม่นยำกว่าผู้เชี่ยวชาญ โดย AI ได้รับการฝึกฝนโดยใช้ภาพของโรคมะเร็งผิวหนังและการวินิจฉัยที่สอดคล้องกันโดยผู้เชี่ยวชาญ สามารถทำเรื่องเดียวกันนี้ในอัตราความแม่นยำที่ 87% แต่ AI สามารถทำได้ถึง 95%
...
AI สามารถวินิจฉัยโรคที่เกิดจากดวงตา โดย Google DeepMind ร่วมกับ Moorfields Eye Hospital ในลอนดอน ทำการวินิจฉัยโรคที่สำคัญสองประการที่ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น คือ เบาหวาน และจอประสาทตาเสื่อมที่เกี่ยวข้องกับอายุ (AMD) ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลกระทบถึงคนราว 625,000 คน ในอังกฤษ และมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก โดย Google DeepMind บอกว่า หากนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการประเมินสภาวะโรคจะช่วยลดอัตราการสูญเสียการมองเห็นของผู้ที่มีความเสี่ยงโรคนี้ลงได้มากกว่า 50%
นอกจากนี้ AI ยังถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการพัฒนายา โดยอาศัยความสามารถในการสแกนข้อมูลได้ในอัตราที่เร็วมากซึ่งเกินกว่าความสามารถของมนุษย์ และที่ Amazing ไปกว่านั้นคือการนำ AI มาใช้ในระบบการสแกนสมองเพื่อถอดรหัสเวลาการฟื้นจากโคม่าของมนุษย์ ซึ่งพบว่า AI สามารถทำนายได้แม่นยำเกือบ 90%
...
ดร.โธมัสอาร์ แอลซี ผู้ก่อตั้งบริษัทชื่อ MindStrong ในแคลิฟอร์เนีย ใช้ AI ทำการวิเคราะห์ภาวะซึมเศร้า และความผิดปกติทางจิตอื่นๆ ของมนุษย์จากการใช้สมาร์ทโฟน และพบว่า AI สามารถจับสัญญาณภาวะซึมเศร้าได้โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากการเคาะ เลื่อน และคลิกสมาร์ทโฟนของมนุษย์ได้อย่างแม่นยำ
สุดท้ายแพทย์หุ่นยนต์ในการทดสอบหุ่นยนต์ AI ที่ชื่อว่า iFlyTek Smart Doctor Assistant ให้จดจำเนื้อหาของตำราทางการแพทย์ หลายสิบเล่ม เวชระเบียน 2 ล้านรายการ และบทความ 400,000 รายการ จากนั้นให้ทำการทดสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ปรากฏว่า AI ได้คะแนน 456 คะแนน ขณะที่มนุษย์ทำคะแนนได้เพียง 360 คะแนนเท่านั้น.