Credit : Politecnico di Torino
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ.2568 ประชากรเกือบ 2,000 ล้านคนในโลกอาจขาดแคลนน้ำดื่มที่พอเพียงต่อความต้องการประจำวัน หนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหานี้คือการเปลี่ยนน้ำทะเลให้กลายเป็นน้ำจืดที่สามารถดื่มได้ ด้วยกระบวนการขจัดเกลือออกจากน้ำทะเล (desalination) ซึ่งต้องใช้พลังงานมากกว่าวิธีเก่าๆที่ใช้การสูบน้ำจากแม่น้ำหรือแหล่งน้ำอื่นๆถึง 10–1,000 เท่า
ในขณะที่เทคโนโลยีการขจัดเกลือออกจากน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดแบบเดิมๆ ที่ใช้กันอยู่นั้นมีส่วนประกอบของเครื่องกลหรือไฟฟ้าราคาแพง เช่น ปั๊มหรือระบบควบคุม อีกทั้งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเพื่อติดตั้งและบำรุงรักษา สิ่งเหล่านี้ทำให้ทีมวิศวกรจากแผนกพลังงานในมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคตูริน ในอิตาลี ได้คิดค้นต้นแบบใหม่ของการกรองน้ำทะเลโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยแรงบันดาลใจจากพืชที่ขนส่งน้ำจากรากสู่ใบไม้ และแรงยกตัวของน้ำรวมถึงการคายน้ำมา สร้างแบบจำลองหลายระดับเป็นอุปกรณ์ลอยตัวที่จัดเก็บน้ำทะเล ใช้วัสดุมีรูต้นทุนต่ำทำให้ตัดปัญหาความยุ่งยากของที่ปั๊มน้ำ อุปกรณ์นี้จะถูกทำให้ร้อนขึ้นด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะช่วยในการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล และน้ำจืดที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์จะเพิ่มปริมาณขึ้นเท่าตัว
ทีมวิศวกรเชื่อว่าวิธีนี้จะสร้างความยั่งยืนเมื่อเทียบกับวิธีแก้ปัญหาก่อนหน้า เพราะขึ้นอยู่กับกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ อุปกรณ์ก็มีราคาไม่แพง ติดตั้งและซ่อมแซมได้ง่าย คุณลักษณะนี้อาจมีประโยชน์ต่อพื้นที่ชายฝั่งที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มและยังไม่ได้รับการบริการจากโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังเหมาะสำหรับการจัดหาน้ำดื่มที่ปลอดภัยและราคาต่ำในสภาวะฉุกเฉิน เช่น ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย.
...