พ.ศ.2551 ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย รับเป็นผู้อำนวยการฝึกอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์ท้องถิ่นของวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว ถึงวันนี้ก็ครบ 10 ปีพอดี จันทร์วันนี้ เริ่มหลักสูตรอบรม 5 วัน “มัคคุเทศก์ท้องถิ่นกับการท่องเที่ยวนวัตวิถี ประเทศไทย 4.0” วันนี้มีผู้บรรยายหลายท่าน อาทิ นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผวจ.สระแก้ว นายศิระพจต์ จริยาวุฒิกุล ผอ.วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ ดร.วริศรา เกษมศรี ฯลฯ ที่วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว

เปิดฟ้าส่องโลกเชิญ ฯพณฯ โยเวรี คากูทา มูเซเวนี ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอูกันดา มาบรรยายที่เมืองไทยเมื่อ พ.ศ.2546 และท่านมาเมืองไทยอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2547 จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 15 ปีแล้ว ก็ยังมีกลุ่มคนไทยที่ประสบความสำเร็จทางด้านการค้าการลงทุนในอูกันดาอยู่จำนวนหนึ่ง เมื่อวานวันอาทิตย์ก็มีการสัมมนาโอกาสการค้าการลงทุนไทยในอูกันดา ที่โรงแรมอัลมีรอซ ถนนรามคำแหง กรุงเทพฯ

ตลาดที่ยังน่าสนใจในโลกใบนี้ก็คือ แอฟริกาตะวันออกที่มีทั้งหมด 11 ประเทศคือ เคนยา แทนซาเนีย เอธิโอเปีย อูกันดา รวันดา บุรุนดี โซมาเลีย โคโมรอส เซเชลล์ แอฟริกากลาง และดีอาร์คองโก ในจำนวนนี้มี 2 ประเทศที่เป็นเกาะอยู่กลางมหาสมุทรอินเดีย คือ เซเชลล์กับโคโมรอส ส่วนประเทศที่อยู่ติดทะเลมี 3 ประเทศคือ เคนยา แทนซาเนีย และโซมาเลีย ที่เหลือคือประเทศแลนด์ล็อกหรือประเทศที่ไม่ติดทะเล 5 ประเทศคือ เอธิโอเปีย อูกันดา รวันดา บุรุนดี แอฟริกากลาง และดีอาร์คองโก

เป็นเรื่องที่น่าตกใจครับ ที่เมื่อพูดถึงอูกันดา บางคนยังกลัวอีดี้ อามีน ซึ่งเป็นผู้นำจอมเผด็จการที่ตายไปตั้งแต่ปีมะโว้ ความรู้ที่ ไม่ทันเหตุการณ์กับทัศนคติที่ผิดๆ ทำให้เพื่อนร่วมชาติของเราบางท่านไม่กล้าเดินทางออกไปลงทุนและทำมาค้าขายในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปแอฟริกา ตัวอย่างของผู้ที่สำเร็จก็คือ คุณพรรณี ชิตรัตฐา กรรมการผู้จัดการ บริษัท คัพเวอร์ เอิร์ท จำกัด ซึ่งปัจจุบันผลิตชาผสมโสมยี่ห้อมิโกชิ ส่งไปขายเฉพาะประเทศนี้เดือนละหลายตู้คอนเทนเนอร์ และกระจายไปอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกา โดยที่คุณพรรณีเริ่มจากการซื้อบัตรเข้าสัมมนาเรื่องการค้าการลงทุนไทยในแอฟริกาเมื่อ 15 ปีที่แล้ว

ผมพบคุณพรรณีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ท่านเล่าว่า เดี๋ยวนี้ อูกันดามีห้างที่ทันสมัยเปิดขึ้นหลายแห่ง เช่น The Acacia Mall หรือ Serena Hypermarket หรือ Shoprite Supermarket ผู้คนก็มีกำลังซื้อมากขึ้น ใครที่เคยดูหมิ่นถิ่นแคลนอูกันดาไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อน วันนี้ก็คงอาจจะนึกเสียดายที่มีทัศนคติลบกับประเทศนี้มาก่อน

ข้อดีของแอฟริกาตะวันออกคือเรื่องท่าเรือครับ ร.ต.อ.ดร. นิติภูมิธณัฐเคยตระเวนไปประชุมกับผู้อำนวยการและคณะกรรมการท่าเรือเมืองมอมบาซาของเคนยา ท่าเรือที่นครดาร์เอส ซาลามของแทนซาเนีย ทราบว่าท่าเรือเมืองมอมบาซาใหญ่กว่าท่าเรือนครดาร์เอส ซาลามกว่า 1 เท่าตัว ตอนที่ไปประชุมการถมทะเลเพื่อขยายท่าเรือมอมบาซาด้วยความช่วยเหลือจากโครงการ JICA ของญี่ปุ่นเสร็จไปแล้ว 1 เฟส ทำให้ตอนนี้ท่าเรือมอม-บาซาจะเป็นศูนย์กลางของแอฟริกาตะวันออกอย่างแท้จริง

การส่งสินค้าไทยไปท่าเรือมอมบาซาใช้เวลา 18-25 วัน จากนั้นสินค้าจะขึ้นรถบรรทุกขนเข้าไปในกรุงกัมปาลาของอูกันดาใช้เวลาอีก 4-5 วันเป็นอย่างต่ำ จากเคนยาไปอูกันดาและแทนซาเนียโดยทางถนนสะดวกมากครับ ส่วนท่านใดจะส่งสินค้าจากท่าเรือมอมบาซาไปรวันดา จะใช้ระยะทางไกลหน่อยครับ ทางนี้ต้องผ่านอูกันดาก่อน ผมอยากแนะนำให้ใช้เส้นทางนี้ เพราะถนนดีกว่าเส้นทางสายอื่น

ผู้อ่านท่านที่จะส่งสินค้าไทยไปบุรุนดีและคองโก ผมขอแนะนำว่าอย่าใช้ท่าเรือเมืองมอมบาซาเลยครับ เพราะถนนไม่ดี ควรจะไปท่าเรือนครดาร์เอส ซาลามมากกว่าซึ่งสะดวกกว่า

วิสัยทัศน์เรื่องการขนส่งทั้งทางอากาศ ทางทะเล และทางบก (ถนนและรถไฟ) จำเป็นต้องเรียนรู้กันอย่างมีประสิทธิภาพเพราะเกี่ยวกับเรื่องของต้นทุนทั้งเงินและเวลา น่าเสียดายที่สินค้าไทยหลายอย่างไปติดอยู่ตามท่าเรือและถนนหนทางในหลายประเทศ.

...

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com