ม็อบ “เสื้อกั๊กเหลือง” การประท้วงรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีในฝรั่งเศส ยืดเยื้อมาหลายสัปดาห์ ชนวนเหตุมาจากประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง มีแผนจะขึ้น “ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง” (Fuel Tax) ประเภทดีเซล ซึ่งจะส่งผลให้ชนชั้นกลาง-ผู้ใช้แรงงานที่ใช้รถยนต์เดือดร้อนอย่างหนัก
การประท้วงปะทุขึ้นตั้งแต่ 17 พ.ย. ที่กรุงปารีสและลามไปทั่วประเทศ โดยผู้ประท้วงสวม “เสื้อกั๊กเหลือง” (Yellow Vests หรือ Gilets Jaunes) ซึ่งกฎหมายฝรั่งเศสบังคับให้มีไว้ในรถยนต์ทุกคัน
ต่อมาการประท้วงลุกลามไปเรื่องอื่นๆ รวมทั้งปัญหาค่าครองชีพสูง ค่าแรงต่ำ รายได้ไม่เท่าเทียม การเข้ามหาวิทยาลัยยาก ไปจนถึงการต่อต้านชนชั้นสูงและขับไล่มาครงเองในที่สุด โดยมีกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มการเมืองหลากหลายผสมโรง รวมทั้งกลุ่มประชานิยม ขวาจัด ซ้ายจัด หัวรุนแรง ซึ่งก่อจลาจลเผาบ้านเมือง
สุดท้ายมาครงเป็นฝ่ายยอมถอย ประกาศยกเลิกแผนการขึ้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ตรึงค่าไฟฟ้าและก๊าซในปีงบประมาณ 2562 แต่ม็อบเสื้อกั๊กเหลืองก็ยังไม่หยุดประท้วง จนมาครงยอมถอยอีกหลายก้าว โดยประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ลดภาษีบางประเภท และอื่นๆ เรียกว่ายอมแพ้ราบคาบ แม้จะทำให้ขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก!
ก่อนถึงวันนี้ คะแนนนิยมของมาครงตกต่ำมากจนเหลือแค่ 23% เพราะเศรษฐกิจฝรั่งเศสย่ำแย่ อีกทั้งเขามีภาพลักษณ์เป็นผู้นำที่ห่างเหิน ไม่รู้ซึ้งถึงความทุกข์ยากของคนรากหญ้า และถูกมองว่าเป็น “ประธานาธิบดีของคนรวย” ตั้งแต่สั่งยกเลิกการเก็บภาษีทรัพย์สินคนรวยทันทีเมื่อขึ้นรับตำแหน่งใหม่ๆ ช่วงกลางปี 2560
อนาคตของมาครงจะเป็นเช่นไรคงต้องรอดูกันต่อไป แต่การที่เขา “ยกธงขาว” สะท้อนให้เห็นว่าการขึ้นภาษี “เชื้อเพลิงฟอสซิล” ที่หวังให้เป็นนโยบายหลักเพื่อต่อสู้ “ภาวะโลกร้อน” นั้น...ยากเย็นขนาดไหน!
...
มาครงอ้างว่าจำเป็นต้องขึ้นภาษีน้ำมันเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ตามข้อกำหนดใน “ข้อตกลงปารีส” ปี 2558 ซึ่งฝรั่งเศสรับบทเป็นหัวเรือใหญ่ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีส โดยชี้ว่ามีค่าใช้จ่ายสูง จะทำลายเศรษฐกิจ
มาครงเคยประกาศว่าการขึ้นภาษีน้ำมันคือหนทางป้องกัน “วันสิ้นโลก” เลยทีเดียว แต่ ขบวนการ “เสื้อกั๊กเหลือง” ชูสโลแกนตอบโต้ว่า “อย่าไปพูดถึงวันสิ้นโลก ในขณะที่พวกเรากำลังพูดถึงวันสิ้นเดือน”
บรรดานักเศรษฐศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย และนักการเมืองทั่วโลก เห็นพ้องกันมานานแล้วว่า วิธีต่อสู้กับภาวะโลกร้อนที่ดีที่สุดคือการขึ้นภาษี “เชื้อเพลิงฟอสซิล” ทั้งน้ำมันเบนซิน ดีเซล ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อภาวะเรือนกระจกซึ่งทำให้โลกร้อนขึ้น
พวกเขายังเห็นว่าการขึ้นภาษีเชื้อเพลิงฟอสซิลและภาษีไฟฟ้า จะทำให้มีรายได้มหาศาลนำมาใช้แก้ความเสียหายจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน และกระตุ้นให้ผู้คนใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลง อีกทั้งทำให้ “พลังงานทางเลือก” พลังงานหมุนเวียนสีเขียวที่สะอาดกว่า และเทคโนโลยีประหยัดเชื้อเพลิงฟอสซิลสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น
“ภาษีคาร์บอน” (Carbon Tax) ที่ว่านี้จึงถูกคาดหมายว่าจะเป็นกลไกสำคัญยิ่งในการผลักดันให้ชาวโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยับยั้งไม่ให้โลกร้อนขึ้นจนควบคุมไม่ได้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าจะสิ้นค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาในระยะยาวมากกว่าการยอมจ่ายค่าเชื้อเพลิงสูงขึ้นในระยะสั้น ชนิดเทียบกันไม่ได้เลย
แต่การจะทำให้ประชาชนยอมรับปัญหาระดับโลกในระยะยาวที่ยังห่างไกลตัวเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในขณะที่พวกเขาต้องเดือดร้อนทันทีจากการขึ้นภาษีน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้ค่าครองชีพอื่นๆสูงขึ้นด้วยเป็นเงาตามตัว การประท้วง “เสื้อกั๊กเหลือง” ในฝรั่งเศส ซึ่งลุกลามไปถึงเบลเยียม จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน!
ฝรั่งเศสไม่ใช่ประเทศเดียวที่เกิดการประท้วงรุนแรงต่อต้านการขึ้นราคาน้ำมัน เมื่อเดือน ก.ย.ปีนี้ การประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันเบนซินใน “อินเดีย” ทำให้โรงเรียนและที่ทำการรัฐบาลถูกปิดอย่างกว้างขวาง ส่วนที่ “เม็กซิโก” การประท้วงปะทุรุนแรงในปี 2560 หลังรัฐบาลผ่อนคลายกฎควบคุมน้ำมัน ทำให้ราคาสูงขึ้น ขณะที่ใน “อินโดนีเซีย” การ ประท้วงปะทุรุนแรงในปี 2556 หลังรัฐบาลลดการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น
...
แม้แต่ใน “สหรัฐอเมริกา” เดือน พ.ย.ปีนี้ ชาวรัฐวอชิงตันก็ลงประชามติท่วมท้นคว่ำข้อเสนอเก็บภาษีคาร์บอน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้นักเศรษฐศาสตร์จะสนับสนุนนโยบายขึ้นภาษีน้ำมัน แต่มักถูกประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำต่อต้าน เพราะทำให้พวกตนเดือดร้อนแสนสาหัส
...
จริงๆแล้ว มาครงไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มขึ้นภาษีน้ำมันคนแรก แต่นโยบายนี้มีมาตั้งแต่รัฐบาลชุด ก่อนๆแล้ว เพียงแต่มาครง “ออกตัวแรง” กว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีก็เพราะชูธงต่อสู้โลกร้อน!
ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งวิลเลียม นอร์ดฮาวส์ ผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้ชี้ว่า นโยบายขึ้นภาษีน้ำมันต่อสู้โลกร้อนของมาครงถูกต่อต้านรุนแรง เพราะไร้การ “ออกแบบ” ที่ดี ไม่มีแผนรองรับชดเชยความเดือดร้อนของประชาชนเพียงพอ อีกทั้งผิดพลาดที่ไปเรียกภาษีน้ำมันว่า “ภาษีคาร์บอน”
ที่สำคัญ “พรีเซนเตอร์” ผู้นำเสนอนโยบายนี้ ก็ดันเป็นผู้นำที่คะแนนนิยมตกต่ำสุดๆ ขณะที่เศรษฐกิจฝรั่งเศสก็ย่ำแย่ ทุกอย่างจึงเลวร้ายไปหมด จนการประท้วงบานปลายเป็นการขับไล่มาครงเองในที่สุด!
บวร โทศรีแก้ว