ช่วง 9-15 ม.ค. "สาธารณรัฐซูดาน" ประเทศใหญ่ที่สุดในแอฟริกา จัดการลงประชามติให้ชาว "ภาคใต้" ตัดสินว่าจะ "แยกเอกราช" จาก "ภาคเหนือ" หรือไม่

ซูดานอยู่ในแอฟริกาตะวันตก เมืองหลวงชื่อ "คาร์ทูม" มีพื้นที่กว่า 2.5 ล้าน ตร.กม. มีประชากรกว่า 42 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือและเป็นชาวอาหรับมุสลิม ยึดกุมอำนาจการเมืองเหนือภาคใต้ ซึ่งมีประชากร 8.5 ล้านคน เมืองหลวงชื่อ "จูบา" ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์และผีสางเทวดา

ซูดานเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและอียิปต์ตั้งแต่ พ.ศ.2442  ก่อนได้รับเอกราชใน  พ.ศ.2499  หรือ 54 ปีก่อน จากนั้นก็มีสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลกับกบฏภาคใต้ 2 ครั้งใหญ่ ครั้งล่าสุดช่วง พ.ศ.2526-2548 มีผู้เสียชีวิตกว่า 2 ล้านคน พลัดถิ่นฐานบ้านช่องกว่า 4 ล้านคน

สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อที่สุดในกาฬทวีป 22 ปียุติลงเมื่อ 9 ม.ค. 2548 เมื่อนายจอห์น การัง ผู้นำกบฏภาคใต้ "ขบวนการปลดปล่อยประชาชนซูดาน" (SPLM) ลงนามข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลกลางภายใต้การนำของประธานาธิบดี โอมาร์ อัล บาเชอร์ ซึ่งได้อำนาจมาจากการก่อรัฐประหารในปี 2532 ก่อนชนะเลือกตั้งในปี 2543

ข้อตกลงสันติภาพระบุให้ภาคใต้จัดการลงประชามติภายใน 6 ปี ว่าจะแยกเอกราชหรือไม่ และจะให้ภูมิภาค "อับเย" บริเวณชายแดนเหนือ-ใต้ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วย "น้ำมัน" และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ตกเป็นของฝ่ายใดถ้าแยกประเทศ แต่การลงประชามติเรื่องหลังถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด

ภาคใต้ซึ่งปัจจุบันเป็นเขตกึ่งปกครองตนเอง มีนายซัลวา เคอร์ อดีตผู้บัญชาการ SPLM เป็นผู้นำ หลังนายการังเสียชีวิตเพราะเฮลิคอปเตอร์ตกแบบมีปริศนากลางปี 2548

ดูจากรูปการณ์ ชาวภาคใต้จะลงประชามติขอแยกเอกราชจากภาคเหนือแน่นอน ถึงแม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะยังไม่รู้อนาคตตนเองว่าจะหักเหไปในทิศทางใดเพราะความไม่พร้อมแทบทุกด้าน เนื่องจากการเจรจาเรื่องความมั่นคง สัญชาติ เศรษฐกิจ ทรัพยากร และอื่นๆ ยังไม่มีข้อสรุป

นอกจากนี้ ภาคใต้ยังด้อยพัฒนาสุดๆ ทั้งระบบเศรษฐกิจและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อีกทั้งยังมีความแตกแยกในหมู่ชนเผ่ากว่า 50 เผ่า ส่วนภาคเหนือก็ต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพราะจะสูญเสียรายได้จากน้ำมัน ซึ่ง 2 ใน 3 อยู่ในภาคใต้ ขณะที่รายได้จากการ ส่งออกของซูดานถึง 85% มาจากน้ำมัน

ที่แย่กว่านั้น ซูดานยังถูกมหาอำนาจตะวันตกคว่ำบาตรหลังนายบาเชอร์ถูกศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮกฟ้องเมื่อปี 2552-2553 ในข้อหาอาชญากร สงครามและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในแคว้น "ดาร์ฟูร์" ทางภาคตะวันตก ซึ่งสงครามกลางเมืองปะทุตั้งแต่ปี 2546 มีผู้เสียชีวิตกว่า 3 แสนคน

น่าสังเกตว่าการลงประชามติแยกเอกราชมี "พี่เบิ้ม" สหรัฐอเมริกา ผลักดันอยู่อย่างเข้มข้น อาจเป็นเพราะมีวาระแอบแฝงด้านการเมือง ยุทธศาสตร์ หรือทรัพยากร คล้ายกับที่มหาอำนาจยุโรปเคย "แบ่งแยกและปกครอง" แอฟริกตามนัย "ที่ประชุมเบอร์ลิน" ใน พ.ศ.2328

"ประวัติศาสตร์" ซูดานอาจ "ซ้ำรอย" เดิม ต่างกันที่เวลาและตัวละครเท่านั้น!

...


"บวร โทศรีแก้ว"