ขอคำชี้แจง-ผู้ประท้วงชุมนุมที่หน้าสถานทูตซาอุฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ โดยคนกลางแต่งตัวเป็นมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุฯ ในสภาพมือเปื้อนเลือด เพื่อขอคำชี้แจงกรณีที่นายจามาล คาช็อกกี นักข่าวอาวุโสชาวซาอุฯ (รูปเล็ก) หายตัวไปลึกลับ หลังเข้าไปในสถานกงสุลซาอุฯ ในตุรกี เมื่อ 2 ต.ค. (เอพี/เอเอฟพี)
เป็นปมร้อนระดับโลก กรณีนาย จามาล คาช็อกกี นักข่าวอาวุโสชาวซาอุดีอาระเบีย วัย 59 ปี ผู้เขียนคอลัมน์ให้หนังสือพิมพ์ “วอชิงตัน โพสต์” ของสหรัฐฯ ผู้บังอาจโจมตีนโยบายของ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารผู้ทรงอำนาจสูงสุดของซาอุฯ หายตัวไปอย่างลึกลับในตุรกี
ทางการตุรกีชี้ว่า คาช็อกกีถูกฆ่าตายในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในนครอิสตันบูล เมื่อ 2 ต.ค. หลังเข้าไปขอเอกสารรับรองการหย่าจากอดีตภรรยาเพื่อไปแต่งงานใหม่กับฮาทิซ เซนกิซ คู่หมั้นชาวตุรกี และศพถูกเคลื่อนย้ายออกไปทันที ส่วนเซนกิซเผยว่า เธอรอเขาอยู่นอกสถานกงสุลถึง 11 ชม. ไม่เห็นออกมาจึงแจ้งตำรวจ
“วอชิงตัน โพสต์” ยังเผยโดยอ้างเจ้าหน้าที่ตุรกีว่า ทีม “นักฆ่า” จากหน่วยข่าวกรองซาอุฯ 15 คน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช 1 คน ถูกส่งไปที่อิสตันบูลเพื่อ “เก็บ” คาช็อกกีโดยเฉพาะ โดยทีมนักฆ่านั่งเครื่องบิน “กัลฟ์สตรีม” 2 ลำจากซาอุฯ ไปลงที่สนามบินอิสตันบูล เมื่อเสร็จภารกิจก็รีบเดินทางกลับในวันเดียวกัน แต่ข่าวบางกระแสระบุว่า คาช็อกกีอาจถูก “อุ้ม” ลักพาตัวกลับซาอุฯ
แม้สื่อตุรกีแพร่ภาพและวิดีโอจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด แสดงกลุ่มชายซาอุฯ ซึ่งเชื่อว่าเป็นทีมนักฆ่าขณะเข้าและออกจากสนามบิน ทั้งยังไปเช็กอินเข้าพักในโรงแรมก่อนขึ้นรถหลายคัน รวมทั้งรถตู้สีดำไปที่สถานกงสุล แต่ซาอุฯ ปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยสิ้นเชิง อ้างว่า คาช็อกกีออกจากสถานกงสุลไปแล้วหลังเข้าไปไม่นาน พร้อมทั้งเชิญเจ้าหน้าที่ตุรกีเข้าตรวจค้นสถานกงสุลด้วย ขณะที่นานาชาติ รวมทั้งสหรัฐฯ ยูเอ็น และอียู เรียกร้องให้ซาอุฯ และตุรกีเร่งสอบสวนคดีนี้ให้กระจ่างและโปร่งใส
...
คาช็อกกีเป็นอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “อัล-วาทาน” และสถานีโทรทัศน์ข่าว “ซาอุดี ทีวี” เป็นอดีตพิธีกรรายการทอล์กโชว์การเมืองของเครือข่ายทีวีอาหรับผ่านดาวเทียม เคยใกล้ชิดกับราชวงศ์ซาอุฯ และเคยเป็นที่ปรึกษาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซาอุฯหลายคน รวมทั้งเจ้าชายเตอร์กี อัลไฟซาล อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง
แต่หลังมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัล-มาน พระชนมายุ 33 พรรษา ขึ้นกุมอำนาจสูงสุดอยู่เบื้องหลังกษัตริย์ซัลมานพระราชบิดาในปีที่แล้ว คาช็อกกีก็โจมตีนโยบายของพระองค์ ต่อมาเพื่อนของเขาหลายคนถูกจับและคอลัมน์ของเขาใน นสพ.อัล-ฮายัตถูกสั่งปิด คาช็อกกีก็หนีไปลี้ภัยในสหรัฐฯ และยังโจมตีนโยบายของมกุฎราชกุมารฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกรณีนำซาอุฯ แทรกแซงสงครามกลางเมืองเยเมน เขายังชี้ว่านโยบายปฏิรูปประเทศของพระองค์ “มีแต่เปลือก” นำซาอุฯเข้าสู่ยุคแห่งความหวาดกลัว การข่มขู่คุกคาม และจับกุมผู้เห็นต่าง
การหายตัวไปของคาช็อกกี ทำให้มกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ถูกเพ่งเล็งสงสัย โดยวอชิงตัน โพสต์ ถึงขั้นระบุว่า พระองค์คือผู้บงการ?
นับตั้งแต่เจ้าชายฯ ถูกสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารในเดือน มิ.ย.2560 พระองค์ใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมเพื่อทำให้ซาอุฯทันสมัย รวมทั้งอนุญาตให้สตรีขับรถยนต์ได้ เข้าสนามกีฬาและโรงภาพยนตร์ได้ แต่ก็เข้มงวดเรื่องศาสนา กวาดล้างนักวิชาการ สื่อมวลชน และนักเคลื่อนไหวที่เห็นต่างมากขึ้น โดยกลุ่มนักข่าวไร้พรมแดน (RSF) ระบุว่า 1 ในปีหลัง มีนักข่าวในซาอุฯถูกจับถึง 15 คน
พระองค์ยังใช้นโยบายต่างประเทศเชิงรุกรานมากขึ้น โดยเข้าแทรกแซงสงครามเยเมนหนุนฝ่ายรัฐบาล นำกองกำลังพันธมิตรโหมโจมตีทางอากาศถล่มกบฏ “ฮูตี” ที่มี “อิหร่าน” ศัตรูของซาอุฯ หนุนหลังอย่างหนัก ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 10,000 คน รวมทั้งพลเรือนหลายพันคน ขณะที่สหรัฐฯ “เอาหูไปนาเอาตาไปไร่” เพราะเป็นพันธมิตรเก่าแก่แนบแน่นกับซาอุฯ มีผลประโยชน์ร่วมทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง
เดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ทางการซาอุฯ จับกุมบุคคลราว 20 คน รวมทั้งนักการศาสนาและนักวิชาการคนสำคัญๆ และมีการรณรงค์กวาดล้างคอร์รัปชันขนานใหญ่ บรรดาเจ้าชายและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงนับร้อยคนซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยทุจริตและไม่จงรักภักดี ถูกจับไปกักตัวไว้ที่โรงแรมหรู “ริทซ์-คาร์ลตัน” ในกรุงริยาดถึง 3 เดือน โดยหลายคน รวมทั้งเจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลาล ผู้ร่ำรวย ถูกปล่อยตัวหลังยอมตกลงจ่ายเงินค่าปรับมหาศาล
4 พ.ย. 2560 นายกรัฐมนตรีซาอัด ฮาริรี แห่งเลบานอน ประกาศลาออกกะทันหันขณะไปเยือนกรุงริยาด อ้างว่าชีวิตในเลบานอนตกอยู่ในอันตราย และโจมตี “อิหร่าน” ว่าเป็นตัวสร้างปัญหาในภูมิภาค ต่อมาฮาริรีปรากฏตัวทางโทรทัศน์ซาอุฯ ในสภาพอิดโรย ทำให้มีข่าวลือว่าถูกซาอุฯ จับ บังคับให้ลาออกและโจมตีอิหร่าน อีก 3 สัปดาห์ต่อมา ฮาริรีเดินทางกลับเลบานอนได้เพราะ “ฝรั่งเศส” เข้าแทรกแซง แต่เมื่อกลับถึงบ้านเขาก็ถอนคำประกาศลาออก และว่าพร้อมเจรจากับขบวนการ “ฮิซบุลลอฮ์” ในเลบานอนที่มีอิหร่านหนุนหลัง
...
มกุฎราชกุมารฯ ยังนำชาติพันธมิตรในอ่าวอาหรับตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อ “กาตาร์” ในข้อหามีสายสัมพันธ์กับอิหร่าน สนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงและผู้ก่อการร้าย
นโยบายอันแข็งกร้าวดุดันของพระองค์ ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวล ยิ่งถ้าไม่สามารถชี้แจงเรื่องการหายตัวไปของคาช็อกกีซึ่งเป็นคดีสุดอุกอาจได้ ภาพลักษณ์ของพระองค์จะยิ่งแย่ลง และชาติพันธมิตรรวมทั้งสหรัฐฯ ซึ่งเคยอุ้มชูกันมายาวนาน อาจถูกกดดันให้ตอบโต้ซาอุฯ อย่างรุนแรง!
บวร โทศรีแก้ว