เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ก.ย. 2561 ประเทศอินโดนีเซียต้องประสบกับเหตุแผ่นดินไหวระดับ 7.5 และคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับเมืองปาลู ในจังหวัดสุลาเวสีกลาง และเกิดความสูญเสียต่อชีวิตผู้คนมากกว่า 1,400 ราย
แต่สิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยังประหลาดใจก็คือ ทำไมจึงเกิดสึนามิ และเหตุใดคลื่นที่เกิดขึ้นจึงรุนแรงและสร้างความเสียหายมากมายกว่าที่ควรจะเป็น พวกเขาจึงพยายามหาคำตอบและพบว่า มีองค์ประกอบอย่างน้อย 4 อย่างที่ทำให้หายนะครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่เรียกได้ว่า เลวร้ายที่สุด
1. เกิดคลื่นสึนามิอย่างไม่คาดฝัน
แผ่นดินไหวเกิดจากแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นการชนกันหรือมุดลงไปใต้แผ่นเปลือกโลกอีกแผ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด แต่บางครั้งหากความเคลื่อนไหวดังกล่าวรุนแรงและใกล้เพียงพอก็จะทำให้เกิดหายนะตามมา เหมือนที่เกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 29 ก.ย. ที่รอยเลื่อน ‘ปาลู-โครู’ จู่ๆ ก็ไถลออกจากกัน ในจุดที่ห่างจากชายฝั่งไม่มากและลึกเพียง 10 กม. ทำให้เกิดแผ่นดินไหวระดับ 7.5
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ฟิลิป หลิว หลี่-ฟาน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า ตามปกติแล้วไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับรอยเลื่อน ‘ปาลู-โครู’ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดแผ่นดินไหวครั้งนี้มากนัก และยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเกิดสึนามิ เพราะแผ่นเปลือกโลกทั้งสองเคลื่อนตัวกันในแนวขนาน ไม่ใช่แนวดิ่งที่มักเป็นสาเหตุให้เกิดคลื่นอันตราย
...
ศ.หลิวยอมรับว่า ตอนนี้พวกเขายังไม่รู้สาเหตุที่ทำให้เกิดสึนามิรุนแรงครั้งนี้ แต่เป็นไปได้ว่า แผ่นดินไหวทำให้เกิดดินถล่มใต้ทะเล ทำให้น้ำแปรปรวนจนเกิดคลื่นสึนามิ และเมื่อคลื่นเริ่มเคลื่อนตัว เมืองปาลู ซึ่งตั้งอยู่ลึกสุดของอ่าวแคบๆ รูปเกือกม้าความยาว 10 กม. ก็มีสภาพเหมือนรอถูกเชือดแล้ว
2. ที่ตั้งของเมืองปาลูเพิ่มพลังให้สึนามิและแผ่นดินไหว
สึนามิแทบไม่มีอันตรายใดๆ ตอนที่มันยังอยู่ในทะเล แต่เมื่อมันเข้าใกล้แผ่นดินมากขึ้น ฐานของมันจะยึดกับพื้นดินใต้ทะเล ทำให้คลื่นสูงขึ้น ในกรณีของเมืองปาลู พวกเขาเผชิญสึนามิถึง 3 ลูกในเวลาเพียง 3 นาที โดยประเมินกันว่า สึนามิเคลื่อนตัวเข้าหาชายฝั่งด้วยความเร็วไม่เกิน 800 กม.ต่อชม. เมื่อถึงชายฝั่งตื้นๆ ความสูงของคลื่นก็เพิ่มเป็น 18 ฟุต
และอย่างที่ระบุข้างต้นว่า เมืองปาลู ซึ่งตั้งอยู่ลึกสุดของอ่าวแคบๆ รูปเกือกม้าความยาว 10 กม. สึนามิปาลูจึงได้รับการเสริมพลังจากสิ่งที่เรียกว่า ‘bowl effect’ เมื่อคลื่นเคลื่อนตัวเข้าสูงช่องทางแคบๆ มันจะสะท้อนกลับมาจากแนวชายฝั่งรอบข้าง
นายฮัมซา ลาตีฟ จากสถานบันเทคโนโลยีบันดัง ผู้ศึกษารอยเลื่อนปาลู-โครูมาตั้งแต่ปี 2538 ระบุว่า เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2470 คลื่นสึนามิลูกหนึ่งมีความสูงราว 3-4 เมตรขณะอยู่ที่ปากอ่าวเมืองปาลู แต่เมื่อเดินทางถึงเมือง ความสูงกลับพุ่งขึ้นเป็น 8 เมตร
นายลาตีฟเผยอีกว่า แผ่นดินไหวสร้างความเสียหายให้กับเมืองปาลู ก่อนที่คลื่นสึนามิจะเดินทางมาถึงเสียอีก เพราะแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวขยายตัวขึ้นด้วยชั้นตะกอนหนาใต้เมืองปาลู ทำให้แผ่นดินเคลื่อนไหวคล้ายกับของเหลว สิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นไม่ดีพอก็ยากที่จะทานทนการเคลื่อนไหวเช่นนี้ได้
...
3. ระบบเตือนภัยสึนามิไร้ประสิทธิภาพ
สำนักงานธรณีฟิสิกส์และอุตุนิยมวิทยาอินโดนีเซีย หรือ BMKG ยกเลิกการเตือนภัยสึนามิหลังจากเวลาผ่านไปเพียง 34 นาที จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ายกเลิกคำเตือนเร็วเกินไป แต่ทาง BMKG ยืนยันว่า ตอนที่สึนามิพัดเข้าเมืองปาลู การประกาศเตือนยังมีผลอยู่ และคำเตือนถูกยกเลิกหลังสึนามิลูกที่ 3 เดินทางถึงฝั่งหลายนาที แต่สำนักข่าวบีบีซีได้เผยแพร่บทความแสดงให้เห็นความล้มเหลวในระบบเตือนภัยของอินโดนีเซีย
หลังเกิดสึนามิครั้งใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2547 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนหลายแสนราย อินโดนีเซียได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากไปกับระบบเตือนภัยสึนามิ ซึ่งรวมถึงเครือข่ายทุ่นลอยน้ำ 21 ทุ่นที่เชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์บนพื้นผิวทะเล ที่ออกแบบมาเพื่อตรวจจับสึนามิโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามทุ่นเหล่านี้ใช้การไม่ได้เลยแม้แต่ทุ่นเดียวตั้งแต่ปี 2555 แล้ว เพราะถูกขโมยหรือเสียหายจากฝีมือมนุษย์ ส่วนการเปลี่ยนอุปกรณ์ก็ล่าช้าเพราะขาดงบประมาณ
...
นายราห์มัต ตริโยโน หัวหน้าศูนย์แผ่นดินไหวและสึนามิของ BMKG บอกกับ บีบีซี ว่า พวกเขามีงบประมาณพอสำหรับซ่อมบำรุงเซนเซอร์ตรวจจับแผ่นดินไหวเพียง 70 เครื่อง จากทั้งหมด 170 เครื่องเท่านั้น จนวัดสึนามิที่เกิดขึ้นล่าสุดได้ไม่แม่นยำ ขณะที่อุปกรณ์วัดความเปลี่ยนแปลงของระดับนำ้ทะเลในแนวดิ่ง (tidal gauge) ที่อยู่ใกล้เมืองปาลูที่สุดก็อยู่ห่างออกไปถึง 200 กม. ซึ่งไกลเกินไป
ด้านศ.หลิวระบุว่า ระบบเตือนภัยสึนามิของอินโดนีเซียนั้น “ใช้การได้บ้างไม่ได้บ้าง” และรัฐบาลแดนอิเหนาให้ความสำคัญกับการป้องกันภูมิภาคทางตอนใต้ ซึ่งได้รับความเสียหายจากสึนามิปี 2547 อย่างหนักมากกว่า
4. ความล้มเหลวทางการศึกษาและการจัดการ
ฟิล คัมมินส์ ศาสตราจารย์ด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เชื่อว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะความล้มเหลวทางเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงด้านการให้ความรู้ด้วย เพราะสึนามิครั้งนี้ต่างจากปี 2547 คลื่นไม่ได้เกิดในทะเลห่างแผ่นดินหลายร้อยไมล์ แต่เกิดใกล้ชายฝั่ง และคาดว่าใช้เวลาเดินทางถึงเมืองปาลูเพียง 30 นาทีเท่านั้น
...
“การมุ่งประเด็นไปที่ความล้มเหลวของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวเป็นความคิดที่ผิด เพราะนี่เป็นสึนามิระดับท้องถิ่น ในกรณีนี้คุณพี่งพาระบบเตือนภัยไม่ได้ ผู้คนควรหาทางขึ้นที่สูงทันที พวกเขาไม่สามารถรอเสียงไซเรนหรือสัญญาณเตือนใดๆ ได้ พวกเขาต้องเคลื่อนไหวในทันที ปัญหาคือ จากภาพที่ผมเห็นในคลิปวิดีโอ ดูเหมือนว่าผู้คนจำนวนมากจะไม่ได้ทำเช่นนั้น” ศ.คัมมินส์กล่าว
เขายังเสริมอีกว่า “ไม่ว่าประชาชนจะไม่รู้ว่าพวกเขาต้องทำอะไร หรือไม่เชื่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา ไม่ว่ากรณีใด เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้คนในสุลาเวสีไม่ได้รับความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องทำในสถานการณ์เช่นนี้ และนั่นเป็นสิ่งที่คร่าชีวิตผู้คน”
ด้าน เจส ฟีนิกซ์ นักธรณีวิทยาชาวอเมริกันซึ่งทำงานในอินโดนีเซีย กล่าวว่า “คลื่นสูงกว่า 10 ฟุตนั้นรุนแรงมาก การอพยพผู้คนในระยะเวลาสั้นๆ จำเป็นต้องมาการกำหนดเส้นทางที่ชัดเจน” “แต่จากประสบการทำงานในอินโดนีเซียมานาน ฉันไม่เห็นการกำหนดเส้นทางที่ชัดเจนเลย ฉันไม่แน่ใจว่าที่เป็นเฉพาะเมืองนี้หรือไม่ แต่มันเป็นเรื่องยากจริงๆ ที่จะอพยพผู้คนจำนวนมากออกจากพื้นที่โดยเร็ว”