Credit : NASA/PMC Turbo/Joy Ng
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ได้เปิดตัวบอลลูนขนาดยักษ์ชื่อ PMC Turbo เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภารกิจศึกษาเมฆเมโซสเฟียร์ขั้วโลก (Polar mesospheric coulds–PMCs) หรือที่รู้จักในอีกชื่อคือ เมฆสี (Noctilucent clouds) ซึ่งเป็นเมฆที่อยู่ในชั้นบรรยากาศระดับสูง โดยอยู่เหนือกว่าผิวโลกประมาณกว่า 80 กิโลเมตร
หลังจาก 5 วันที่ถูกปล่อยขึ้นฟ้าในประเทศสวีเดน บอลลูนดังกล่าวก็ลอยผ่านชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (stratosphere) ข้ามทวีปอาร์กติกไปยังทางตะวันตกของรัฐนูนาวุตในแคนาดา และในระหว่างที่ลอยฟ้าอยู่นั้น กล้องบนบอลลูน PMC Turbo ก็จับภาพความละเอียดสูงของเมฆสีฟ้าได้หลายแบบ และเก็บข้อมูลได้ถึง 120 เทราไบต์ ภาพของเมฆสีฟ้าเผยให้เห็นกระบวนการความปั่นป่วนของชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์สภาวะของชั้นบรรยากาศโลก มหาสมุทร และทะเลสาบ รวมถึงชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์อื่นๆที่สำคัญอาจช่วยปรับปรุงการพยากรณ์อากาศได้อีกด้วย
นักวิทยาศาสตร์ที่ควบคุมโครงการบอลลูนดังกล่าวเผยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่สามารถมองเห็นการไหลเวียนของพลังงานจากคลื่นแรงโน้มถ่วงที่มีขนาดใหญ่ ไปจนถึงความไม่เสถียรของการไหลและความวุ่นวายในชั้นบรรยากาศโลก เนื่องจากในระดับความสูงระดับนี้จะสามารถมองเห็นคลื่นแรงโน้มถ่วงที่แตกสลายเหมือนคลื่นทะเลซัดเข้าชายหาดนั่นเอง.
...