การประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ในกรุงเทพฯ นาน 6 วัน เริ่มขึ้นที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) ในกรุงเทพฯ เมื่อ 4 ก.ย. เพื่อหารือรายละเอียดการบริหารจัดการ “ข้อตกลงปารีส” ซึ่งลงนามกันในปี 2558 ให้ลงตัว ก่อนการประชุมสุดยอดรัฐภาคีของ UNFCCC 197 ประเทศครั้งที่ 24 (COP24) ที่โปแลนด์ เดือน ธ.ค.นี้

การประชุมครั้งนี้ถูกจับตามองอย่างมากว่าจะบรรลุผลหรือไม่ในการกำหนดแนวทางและ “สมุดกฎเกณฑ์” (Rule Book) ของข้อตกลงปารีส เรื่องการให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบและการรับมือผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาต้องการได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ และต้องการรู้ว่าประเทศผู้บริจาคที่ร่ำรวยตั้งใจจะยกระดับความช่วยเหลือด้านการเงินแก่พวกตนอย่างไร ส่วนประเทศร่ำรวยต้องการให้เอกชนมีส่วนร่วมเรื่องเงินช่วยเหลือมากขึ้น และอยากให้โครงการแก้ปัญหาโลกร้อนต่างๆ สามารถทำกำไรได้ ขณะที่มีแรงกดดันมากขึ้นให้ประเทศที่พัฒนาแล้วรับผิดชอบด้านการเงินในระยะยาว

นายมิเชล เคอร์ไทกา ผู้ถูกแต่งตั้งเป็นประธาน COP24 กล่าวเปิดการประชุมว่าถ้าชาติต่างๆ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงก่อนการประชุม COP24 ข้อตกลงปารีสจะตกอยู่ในความเสี่ยง พวกเราไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้เร็วเท่าที่สามารถทำได้ และต้องการข้อเสนอและมติที่เป็นรูปธรรม ส่วนนางแพทริเซีย เอสปิโนซา แห่ง UNFCCC กล่าวว่า เมื่อผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้น ประเทศที่ยากจนและอ่อนแอที่สุด ซึ่งไม่ใช่ผู้สร้างปัญหาจะรับเคราะห์หนักขึ้น

ทั้งนี้ ข้อตกลงปารีสตั้งเป้าควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสก่อนยุคอุตสาหกรรม ก่อนถูกปรับเป็นกว่า 3 องศาเซลเซียส ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีสในปีที่แล้ว และปฏิเสธที่จะทำตามคำสัญญาระดมเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วยชาติยากจนสู้ปัญหาโลกร้อน อนึ่ง ในวันเปิดประชุม กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ชุมนุมประท้วงที่หน้า UNCC ในกรุงเทพฯ ด้วย โดยเรียกร้องให้ประเทศที่ ร่ำรวยรับผิดชอบการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมากขึ้น.

...