...สหประชาชาติคาดการณ์ภายในปี 2593 หรือ 32 ปีข้างหน้า พลเมืองโลกจะพากันอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากราว 2 ใน 3 หรือจำนวนราว 6,000 ล้านคน

ทุกวันนี้พลเมืองโลกอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากราว 58 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็น 68 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2593 ส่วนเมืองใหญ่ทั่วโลกที่เรียกกันว่า “มหานคร”-Megacities หรือเมืองประชากรมากเกิน 10 ล้านคน ปัจจุบันคือ 47 เมือง จะเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 10 เมืองภายในปี 2573

เมืองใหญ่ที่ผู้คนอยู่พำนักทำมาหากินส่วนใหญ่คือเมืองในเอเชีย ไล่ตั้งแต่อินเดีย จีนและไนจีเรียของทวีปแอฟริกา ส่งผลให้เกิดความท้าทายทั้งรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง แต่ละพื้นที่ต้องเร่งพัฒนาเมืองรองรับการเติบโตและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ปัญหาสำคัญที่สุดคือ การสร้างพัฒนาเมืองให้กลมกลืนและกระทบสภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด พร้อมไปกับการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียม นอก เหนือจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเมืองในเรื่องอื่นๆ รวมถึงสุขภาพและการศึกษา

แนวร่วมพันธมิตรเพื่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมเมือง องค์กรไม่แสวงผลกำไรของอังกฤษเปิดเผยผลงานวิจัยสภาพสังคมเมืองใหญ่ทั่วโลก สรุปประเมินสถานการณ์เมือง ใหญ่ทั่วโลกตลอดช่วงหลายสิบปีข้างหน้า จำเป็นต้องทุ่มงบประมาณสร้างเครือข่ายสาธารณูปโภคพื้นฐานมากเฉลี่ยปีละ 35,000-136,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.1-4.4 ล้านล้านบาท

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นจะช่วยสร้างงานเพิ่มเฉลี่ยให้ผู้คนปีละกว่า 23 ล้านคน โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารรุ่นใหม่ๆ เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม ใช้พลังงานน้อยลงและพึ่งพาพลังงานที่ผลิตได้เองจำนวนหนึ่ง

พัฒนาการต้องรวมถึงการสร้างเครือข่ายคมนาคมขนส่งในเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มขยายเส้นทางจักรยานลดสภาพมลภาวะของเขตเมือง ไม่ใช่สร้างกันแบบตามกระแสปุ๊บปั๊บแล้วเลิกรา

...

การทุ่มลงทุนสร้างพัฒนาขยายเมืองใหม่ทันสมัยต้องเป็นไปแบบ “โลว์-คาร์บอน” หรือลดการทำลายสภาพแวดล้อมให้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่สภาพสังคมเมืองสีเขียว พลเมืองสุขภาพดี คุณภาพชีวิตผู้คนดีขึ้น นอกเหนือจากระบบจัดการของเสียและขยะอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด...

อานุภาพ เงินกระแชง