2 สัปดาห์ที่แล้ว ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย พาคณะเพื่อนไลน์แอทไอดี @ntp5 ไปดูเขื่อนน้ำลิก 1 ที่เมืองหินเหิบ แขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว และในห้วงช่วง 2 ปีก่อนหน้านั้น ทีมงานเปิดเลนส์ส่องโลกก็เดินทางไป สปป.ลาวถี่มาก เพื่อศึกษาและถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน โครงการเกษตร โครงการการท่องเที่ยว รวมทั้งเรื่องรถไฟความเร็วสูงจากจีนและมอเตอร์เวย์สายวังเวียง-เวียงจันทน์ ฯลฯ
ระหว่างที่เดินทางไป สปป.ลาวครั้งล่าสุด ฝนตกหนักตลอด ขณะที่ไปยืนบนสันเขื่อนน้ำลิก 1 และสันเขื่อนน้ำงึม คณะเพื่อนไลน์แอท @ntp5 รู้สึกได้ถึงพลังน้ำมหาศาล กลับมาได้ไม่กี่วันก็ทราบว่า เขื่อนดินย่อยที่กั้นช่องเขาส่วน D ขนาดสันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ยาว 770 เมตร สูง 16 เมตร ซึ่งกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ทรุดตัว และมวลน้ำมหาศาลไหลออกสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนลงสู่แม่น้ำเซเปียนที่อยู่ห่างจากเขื่อน 5 กิโลเมตร
24 กรกฎาคม 2561 รัฐบาลแขวงอัตตะปือมีคำสั่งอพยพประชาชนหนีน้ำซึ่งมีน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 15 เมตร แต่ก็ไม่สามารถที่จะอพยพได้ทัน ทำให้น้ำท่วมมากถึง 10 หมู่บ้านในเมืองสะหนามไซ ขณะที่เขียนหนังสือรับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพอยู่ในขณะนี้ ทราบว่ามีคนเสียชีวิตไปแล้ว 19 ราย และสูญหายมากกว่า 100 ราย
เขื่อนเซเปียน–เซน้ำน้อยที่แตกนี่ สร้างเสร็จไปร้อยละ 90 แล้วก็เริ่มเก็บกักน้ำ โดยมุ่งหวังตั้งใจว่าจะเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้า 410 เมกะวัตต์ ส่งขายไทยให้ได้ใน พ.ศ.2562
แขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือมีเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายมายังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นรายได้หลัก ลาวเป็นประเทศที่มีเขื่อนเยอะ ทั้งสร้างเสร็จแล้ว ทั้งกำลังสร้าง และที่เตรียมจะสร้าง ต่อไปในอนาคต เมื่อหมดระยะเวลาสัมปทานแล้ว เขื่อนทั้งหมดก็จะตกเป็นของรัฐบาลลาว ทำให้ลาวเป็นประเทศที่จะมีรายได้มหาศาลจากการขายไฟฟ้า ในขณะที่ประชาชนลาวมีน้อยมาก ไม่ถึง 10 ล้านคน มีคนคิดเรื่องรายได้ต่อหัวพบว่า ในอนาคตลาวจะเป็นประเทศที่มีรายได้โดยเฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุดในประชาคมอาเซียน
...
ผมตามอาจารย์นิติภูมิธณัฐไปประชุมสัมมนาใน สปป.ลาวหลายครั้ง เมื่อมีคนพูดเรื่องรายได้ต่อหัวที่จะสูงที่สุดในอาเซียน ก็มักจะมีคนยกมือถามว่า แล้วการกระจายรายได้เป็นธรรมหรือไม่ หรือรายได้ส่วนใหญ่อยู่กับคนกลุ่มบนของประชากรลาว
ทันทีที่มีข่าวเขื่อนเซเปียน–เซน้ำน้อยแตก ในโซเชียลมีเดียของไทยก็มีแต่เรื่องการคุยกันว่าจะเดินทางไปช่วย จะส่งสิ่งของไป จะส่งเงินไป ทุกคนมีความเป็นห่วงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้เสมือนหนึ่งเป็นญาติของตนเอง โดยเฉพาะในไลน์แอทไอดี @ntp5 ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 36,286 คน เพื่อนทั้งไลน์คุยกันแต่เรื่องของ สปป.ลาว และต่างเริ่มระดมความช่วยเหลือ เมื่อโอนเงินข้ามประเทศไม่ได้ ก็รีบแจ้งกลับมาในไลน์หลายร้อยราย
จากเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ คือ การช่วยชีวิต 13 หมูป่า ที่ถ้ำหลวง จ.เชียงราย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเขื่อน
เซเปียน-เซน้ำน้อย ที่ สปป.ลาว ทำให้ผมพบว่า ปัจจุบันเราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ยังมีคนที่พร้อมเสียสละ ให้การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เมื่อได้รับความเดือดร้อนอยู่เป็นจำนวนมากในทุกประเทศ
เรื่องถิ่นกำเนิด ชาติพันธุ์ การเมือง ศาสนา และอุดมการณ์กลายเป็นเรื่องที่คนมองข้ามไปแล้วในปัจจุบัน ทุกวันนี้ คนที่มีความแตกต่างหลากหลายในด้านต่างๆ มารวมใจกันเป็นหนึ่งในการแก้ไขปัญหาให้กันและกันเมื่อประสบภัยพิบัติ
คอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลกขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย รวมทั้งประชาชนและรัฐบาล สปป.ลาว ด้วยครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com