นักวิทยาศาสตร์อิตาลียืนยัน เรดาร์สำรวจดาวอังคารตรวจพบทะเลสาบใต้ธารน้ำแข็งบริเวณขั้วใต้ เป็นเบาะแสใหม่ในการตามหาชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้...

เมื่อวันพุธที่ 25 ก.ค. สำนักงานอวกาศอิตาลี (ISA) เผยแพร่ผลการศึกษาใหม่ผ่านวารสาร ‘journal Science’ ระบุว่า เรดาร์บนยานสำรวจดาวอังคารตรวจพบทะเลสาบอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วใต้ของดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ จุดประกายความหวังว่าอาจมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตในอนาคต

ผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า เรดาร์มาร์ซิส (Mars Advanced Radar for Subsurface and Ionosphere Sounding instrument : MARSIS) บนยาน ‘มาร์ส เอ็กซ์เพรส’ ของสำนักงานอวกาศยุโรป (ESA) ซึ่งโคจรอยู่รอบดาวอังคาร ได้ทำการสำรวจธารน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วใต้ของดาวอังคารหรือภูมิภาค ‘พลานุม ออสทราล’ โดยส่งคลื่นเรดาร์ผ่านแผ่นน้ำแข็งและตรวจสอบลักษณะการเต้นคลื่นที่สะท้อนกลับมา

พื้นที่สีขาวคือธารน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วใต้ของดาวอังคารเอาไว้
พื้นที่สีขาวคือธารน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วใต้ของดาวอังคารเอาไว้

...

นักวิทยาศาสตร์ใช้คลื่นสะท้อนกลับมาสร้างเป็นแผนที่ซึ่งแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสัญญาณอย่างมากมายที่ความลึกราว 1 ไมล์จากพื้นผิวและแผ่ขยายกว้างราว 12.5 ไมล์ ดูคล้ายกับสัญญาณของทะเลทรายที่เคยพบในทวีปกรีนแลนด์และแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกบนโลก พวกเขาจึงเชื่อว่า สัญญาณนี้คือน้ำเหลวที่มีสถานะคงตัว

ศาสตราจารย์ โรแบร์โต โอโรเซ จากสถาบันดาราฟิสิกส์แห่งชาติอิตาลี ผู้นำการศึกษาครั้งนี้ระบุว่า “มันอาจไม่ใช่ทะเลสาบที่ใหญ่นัก” ทั้งนี้ มาร์ซิสไม่สามารถวัดได้ว่าชั้นน้ำที่พบมีความลึกเท่าใด แต่ทีมวิจัยประเมินว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 1 เมตร “นี่เป็นคุณสมบัติของการเป็นผืนน้ำ เป็นทะเลสาบ ไม่ใช่น้ำที่ละลายออกมาอยู่ในช่องระหว่างชั้นหินกับน้ำแข็ง ที่เกิดขึ้นที่ธารน้ำแข็งหลายแห่งบนโลก” ศ.โอโรเซกล่าว

พื้นที่รูปสามเหลี่ยมสีน้ำเงินเข้มด้านล่างคือจุดที่คาดว่าเป็นทะเลสาบ
พื้นที่รูปสามเหลี่ยมสีน้ำเงินเข้มด้านล่างคือจุดที่คาดว่าเป็นทะเลสาบ

ด้านดร. มานิช พาเทล จากมหาวิทยาลัยโอเพน บอกกับสำนักข่าว บีบีซี ว่า การค้นพบครั้งนี้ไม่ได้เป็นข้อยืนยันว่ามีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร “เรายังไม่เข้าใกล้กับการค้นพบสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร แต่การค้นพบนี้มอบสถานที่ที่ต้องสำรวจให้กับเรา มันเหมือนกับลายแทงสมบัติ เพียงแต่ในกรณีนี้ ไม่มีเครื่องหมาย ‘กากบาท’ ชี้จุดให้”