สหรัฐฯ อนุมัติยารักษามาลาเรีย ครั้งแรกในรอบ 60 ปี หวังเป็นหนทางกำจัดเชื้อร้ายให้หมดไปจากร่างกายคนไข้ ไม่หวนกลับมาป่วยอีก เพราะเป็นยาแบบได้รับครั้งเดียว ขณะที่นักวิทย์ยกให้ยาชนิดนี้เป็นความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม
เมื่อ 23 ก.ค.61 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ‘ไฟเขียว’ อนุมัติยารักษาโรคมาลาเรีย เป็นครั้งแรกของสหรัฐฯ ในรอบ 60 ปี เพื่อหวังจะใช้รักษาผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ที่อาการป่วยกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ซึ่งเฉลี่ยแล้วปีละถึงประมาณ 8.5 ล้านคน อีกทั้งเชื้อมาลาเรียที่มีสาเหตุมาจากปรสิตโปรโตซัว plasmodium Vivax นั้น ยังมีความท้าทายเป็นพิเศษในการกำจัดให้หมดไปจากร่างกาย เนื่องจากมันสามารถพักตัวอยู่ในตับของคนเป็นเวลาหลายๆ ปี ก่อนจะก่อให้เกิดอาการป่วยอีกหลายๆ ครั้งตามมา
เว็บไซต์ thepharmaletter รายงานว่า ยารักษาโรคมาลาเรียดังกล่าว ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก FDA นั้น เป็นยาแบบใช้ครั้งเดียว ชื่อ Krintafel (tafenoquine) ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทยายักษ์ใหญ่ในสหราชอาณาจักร ‘GlaxoSmithKline’
...
สำหรับยา Krintafel (tafenoquine) ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมาลาเรีย ที่ติดเชื้อปรสิต plasmodium Vivax ซึ่งเป็นชนิดของเชื้อมาลาเรียที่พบมากที่สุดในพื้นที่ทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา ในทวีปแอฟริกา ซึ่งเด็กๆ เป็นกลุ่มที่เสี่ยงเป็นพิเศษ โดยยานี้สามารถใช้กับยาชนิดอื่นในการรักษาอาการป่วยมาลาเรียโดยทันที ขณะที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายถึงยา tafenoquine ว่าเป็น ‘ความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม’
บีบีซี เผยว่า ที่ผ่านมามียาที่ใช้ในการกำจัดเชื้อมาลาเรียในตับที่เรียกว่า primaquine อยู่แล้ว เพียงแต่ข้อแตกต่างกันกับยาตัวใหม่ก็คือยา tafenoquine เป็นยาที่ใช้ครั้งเดียว ในขณะที่ยา primaquine ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาต่อเนื่อง 14 วัน ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคมาลาเรียมีความกังวล เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมาก หลังกินยาไปแล้ว 2-3 วัน ก็มีอาการดีขึ้น ทำให้ไม่กินยาต่อ จนทำให้เชื้อมาลาเรียสามารถพักตัวและแสดงอาการป่วยได้อีกในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม FDA ระบุว่า ในขณะที่ยารักษามาลาเรีย tafenoquine เป็นยาที่มีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันก็มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่ต้องพึงระวังด้วยเช่นกัน อย่างเช่นคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับเอนไซม์ ที่เรียกว่า G6PD บกพร่อง ไม่ควรได้รับยา tafenoquine เนื่องจากสามารถทำให้เกิดโรคโลหิตจางร้ายแรง.