เมื่อเดือน ต.ค. ปี ที่ผ่านมากล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS 1 ของมหาวิทยาลัยฮาวาย ตรวจพบการโคจรของหินอวกาศรูปร่างคล้ายกับซิการ์สีออกแดง และได้รับการตั้งชื่อว่า “โอมูอามูอา” (Oumuamua) เป็นภาษาพื้นเมืองของฮาวาย แปลว่าผู้ส่งสารจากแดนไกล หินอวกาศลูกนี้ได้เคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะของเรา โดยตอนแรกนักดาราศาสตร์เชื่อว่ามีคุณสมบัติจัดอยู่ในประเภทดาวเคราะห์น้อย
แต่เมื่อเร็วๆนี้ นักดาราศาสตร์จากศูนย์ประสานการเฝ้าระวังทางอวกาศ (Space Situational Awareness-SSA) และโครงการสำรวจของวัตถุที่มีวงโคจรเข้าใกล้โลก (Near Earth Object-NEO) ขององค์การอวกาศยุโรปในประเทศอิตาลี เปิดเผยว่า วัดขนาดของโอมูอามูอาได้ประมาณ 800 เมตร และดูเหมือนว่าเส้นทางโคจรจะเบี่ยงเบนไปเล็กน้อยซึ่งเป็นผลกระทบมาจากแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ เมื่อวิเคราะห์อย่างละเอียดกลับพบสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ มีการปล่อยก๊าซขนาดเล็กมากๆ ออกมาจากพื้นผิวซึ่งบ่งชี้ว่าโอมูอามูอาเป็นดาวหาง ไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อยที่แห้งแล้งอย่างที่เคยเข้าใจ
ก่อนหน้านี้โอมูอามูอาบินผ่านดวงอาทิตย์ไปประมาณ 315,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และกำลังมุ่งหน้าออกจากระบบสุริยะในทิศทางของกลุ่มดาวเพกาซัส หรือกลุ่มดาวม้าบิน นักดาราศาสตร์สงสัยว่าจะมีการค้นพบวัตถุอวกาศจากระบบดาวอื่นๆ ผ่านเข้ามาในระบบสุริยะของเราอีก แต่การค้นพบโอมูอามูอาก็นับเป็นโอกาสแรกในการศึกษาวัตถุที่มาจากระบบดาวอื่น รวมถึงวิธีการก่อตัวขึ้นของวัตถุอวกาศเหล่านี้.